การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง และพิธีปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ๑๙วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ (Dr. Peter Haymond) อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ พลเรือเอก ฟิลิป เอส เดวิดสัน (Philip S. Davidson) ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก เป็นประธานร่วมในพิธีปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ๑๙ ณ สนามฝึกกองทัพภาคที่ ๓ อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย พร้อมทั้งชมการสาธิตการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (CALFEX) และชมนิทรรศการอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมวีดิทัศน์ประมวลภาพการฝึกคอบร้าโกลด์ ๑๙ โดยมี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมิตรประเทศ และผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมในพิธีด้วย
การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ประกอบด้วย กำลังพลและยุทโธปกรณ์จากกองทัพไทย กองทัพสหรัฐอเมริกา กองทัพอินโดนีเซีย กองทัพมาเลเซีย และกองทัพสิงคโปร์ ยอดผู้เข้าร่วมการฝึกกว่า ๗๒๕ นาย กิจกรรมการฝึกฯ ประกอบด้วย การโดดร่มแทรกซึมเบื้องสูง การซุ่มยิง การบินขัดขวางทางอากาศ การยิงเตรียมและการยิงสนับสนุนของปืนใหญ่ การเจาะช่องเปิดเส้นทางของทหารช่าง การเคลื่อนที่ประกอบการยิง การโจมตีทางอากาศ การสนับสนุนทางอากาศใกล้ชิด การยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ การส่งกลับสายแพทย์ทางอากาศ และการเข้ายึดที่หมาย โดยมียุทโธปกรณ์สำคัญที่เข้าร่วมการฝึกฯ ประกอบด้วย รถถัง Stingray รถยานเกราะล้อยาง BTR ปืนใหญ่ M198 เครื่องบินขับไล่ F-16 เครื่องบินขับไล่ Alpha Jet เฮลิคอปเตอร์ UH-60 Black Hawk และเฮลิคอปเตอร์ AS550 จากกองทัพไทย รถถังแบบ M1A1 Abrams รถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker จรวดหลายลำกล้อง HIMARS ปืนใหญ่ M777 เครื่องบินขับไล่ F-16 เฮลิคอปเตอร์ UH-60 Black Hawk เฮลิคอปเตอร์ HH-60 Pave Hawk และ ปืนใหญ่ M777 จากกองทัพสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันการฝึกคอบร้าโกลด์ ถือเป็นการฝึกทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทยและกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี การฝึกคอบร้าโกลด์ที่ผ่านมา นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง ในการพัฒนาขีดความสามารถกำลังพลของประเทศที่เข้าร่วมการฝึกฯ และเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ หลักนิยม และเทคโนโลยีทางทหาร รวมทั้งเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับกำลังพลของกองทัพไทยและกองทัพมิตรประเทศในปฏิบัติการร่วม/ผสม สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการที่จะเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพและผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคโดยรวม นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาของกำลังพลมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกอีกด้วย