บิ๊กฉัตร” เดินหน้าลุยแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซากลุ่มน้ำสะแกกรัง
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เดินหน้าลุยแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซากลุ่มน้ำสะแกกรัง ดับทุกข์ชาวปากน้ำโพ-อุทัยธานี ด้าน“สทนช.”เร่งแผนพัฒนาพื้นที่ Area Based สะแกกรังตอนล่างแบบยั่งยืน แก้วิกฤติเสี่ยงภัย 5.2 แสนไร่
วันนี้(13 ก.พ. 62) ที่ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซากมาอย่างยาวนาน เนื่องจากยังขาดแหล่งเก็บกักน้ำที่มีความจุเพียงพอกับปริมาณน้ำจำนวนมากของลุ่มน้ำสะแกกรังในช่วงฤดูฝน รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทำการศึกษาและวิเคราะห์พื้นที่ Area Based ลุ่มน้ำสะแกกรังตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 58 ตำบล 10 อำเภอในจังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี มีพื้นที่เสียงภัยน้ำท่วม จำนวน 124,200 ไร่ และพื้นที่ภัยแล้ง จำนวน 375,900 ไร่ ในจำนวนดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่เดียวกันมากถึง 29,500 ไร่ รวมเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด 529,600 ไร่ มีประชาชนได้รับผลกระทบ 56,700 ครัวเรือน และมีปริมาณน้ำขาดแคลนด้านการเกษตรประมาณ 214 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และปริมาณน้ำส่วนเกินท่วมขัง 120 ล้าน ลบ.ม. เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยเฉพาะลุ่มน้ำแม่วงก์ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ใน ปี 2555 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ต้นน้ำแม่วงก์ เพื่อตัดยอดน้ำก่อนเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน และเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่โครงการถูกระงับไปเนื่องจากติดปัญหาผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์ จึงทำให้เกิดความเห็นที่แตกต่างระหว่างผู้ที่สนับสนุนโครงการและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการโครงการ รัฐบาลปัจจุบันจึงพยายามให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน มีการรับฟังข้อเสนอการบริหารจัดการน้ำจากกลุ่มอนุรักษ์ ทั้งการเก็บน้ำในลำน้ำ โดยทำประตูระบายน้ำเขาชนกัน การขุดลอกทางน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาได้บางส่วน แต่เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ สทนช. ศึกษา SEA ลุ่มน้ำสะแกกรังเพื่อวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำทั้งระบบ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2563 พร้อมเร่งรัดพัฒนา Area Based ลุ่มน้ำสะแกกรังตอนล่างอย่างเร่งด่วน เพื่อกู้วิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน สทนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงานขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในปี 2562 ว่า ได้เตรียมแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ ใน 3 จังหวัดคือ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี จำนวน 133 โครงการ เพิ่มความจุเก็บกักรวมทั้งสิ้น 3.59 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 4,883 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 5,167 ครัวเรือน อาทิ 1.การก่อสร้างระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ (ระยะที่ 1) ปริมาณน้ำต้นทุน 0.61 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนรับประโยชน์ 523 ครัวเรือน 2.การก่อสร้างฝายหมู่ 7 คลองวังหลวงพร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี พื้นที่ชลประทาน 1,200 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 150 ครัวเรือน 3.การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยใหญ่ หมู่ที่ 10 ตำบลสร้อยละคร อำเภอลาดยาวจังหวัดนครสวรรค์ ปริมาณน้ำต้นทุน 0.19 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 187 ครัวเรือน 4.การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยหินลับตอนบน บ้านตะกุด หมู่ที่ 5 ตำบลวังซ่าน อำเภอแม่วงก์จังหวัดนครสวรรค์ ปริมาณน้ำต้นทุน 0.38 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนรับประโยชน์ 375 ครัวเรือน 5.ก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นาขนาด 1,260 ลบ.ม. ในอำเภอลาดยาว 5 แห่ง และ 6.การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองอุทัยธานี ระยะที่ 5 จังหวัดอุทัยธานี พื้นที่ได้รับการป้องกันและลดผลกระทบ 1,786 ไร่
นอกจากนี้ ในปี 2563 ยังมีแผนการพัฒนาแหล่งน้ำต่อเนื่องใน 2 จังหวัดคือ นครสวรรค์และอุทัยธานี อีกจำนวน 208 โครงการ เพิ่มความจุเก็บกักรวมทั้งสิ้น 3.14 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 29,080 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 5,660 ครัวเรือน ประกอบด้วย การขุดขยายลำน้ำแม่น้ำตากแดด จังหวัดอุทัยธานี จำนวน 21.000 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่ลดผลกระทบ 60,000 ไร่ 2.สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบึงขุมทรัพย์พร้อมปรับปรุงลำน้ำ พื้นที่ที่ลดผลกระทบ 3,000 ไร่ 3.อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำบริเวณเขาหลวง ปริมาณน้ำต้นทุน 0.95 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 210 ครัวเรือน 4.เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำสะแกกรัง หมู่ที่ 5 – หมู่ที่ 7 (หน้าวัดบางกุ้ง) ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ป้องกันตลิ่ง 1,000 เมตร 5.ค่าวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ หมู่ 3 ตำบลดอนขวาง ถึงหมู่ 3, 2, 5, 6, 1 และ 4 ตำบลหนองไผ่แบน อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ประชาชนได้รับประโยชน์ 310 ครัวเรือน และ 6.จัดทำข้อมูลชุมชนและแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย (Watershed Profile) จำนวน 19 ลุ่มน้ำย่อย
ส่วนปี 2564 ยังได้เร่งพัฒนาโครงการสำคัญลุ่มน้ำสะแกกรังอีก 4 โครงการประกอบด้วย 1.ระบบป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ชุมชนลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ วงเงิน 230 ล้านบาท พื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,494 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 1,628 ครัวเรือน 2.ประตูระบายน้ำเขาชนกัน ตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ วงเงิน 718 ล้านบาท พื้นที่ได้รับประโยชน์ 10,000 ไร่ ความจุ 14.62 ล้าน ลบ.ม. 3.ประตูระบายน้ำวังชุมพร ตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ วงเงิน 700 ล้านบาท พื้นที่ได้รับประโยชน์ 5000 ไร่ ความจุ 0.68 ล้าน ลบ.ม. และ 4.อ่างเก็บน้ำ เขาลูกช้าง ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี วงเงิน 400 ล้านบาท ความจุ 2 ล้าน ลบ.ม.