มาดูคืบหน้า…. Cobra Gold 19 กองทัพภาคที่ 3 เจ้าภาพฝึกซ้อมทางทหารระดับพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย จับมือ 29 ประเทศ ลงพื้นที่ทำกิจกรรมเพื่อสัมพันธภาพและชุมชน…..
คอบร้าโกลด์เป็นการฝึกซ้อมทางทหารระดับพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเป็นเวลากว่า 30 ปี จะมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมการฝึกกว่า 25 ประเทศโดยเน้นการรับมือปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคและทั่วโลก ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้
คอบร้าโกลด์ 2019 มีเป้าหมายเสริมสร้างประสิทธิภาพความร่วมมือและประสานงานในภูมิภาคเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศที่ร่วมการฝึกในการทำงานร่วมกันในปฏิบัติการระดับพหุภาคีที่ซับซ้อน เช่น การสร้างเสริมเสถียรภาพทางทะเล การป้องกันและบรรเทาภัยด้านสาธารณสุขที่อุบัติใหม่ และการดำเนินการตอบสนองภัยพิบัติทางธรรมชาติที่กินขอบเขตกว้าง พร้อมทั้งพัฒนาสมรรถนะของประเทศที่ร่วมการฝึกในการวางแผนและดำเนินงานปฏิบัติการร่วม/ผสม สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ตลอดทั่วภูมิภาคนี้ และเพิ่มพูนความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันด้านความมั่นคงที่หลากหลาย
การฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์ปีนี้จะประกอบด้วยสามกิจกรรมหลัก ได้แก่ การฝึกฝ่ายเสนาธิการซึ่งรวมถึงงานสัมมนาผู้บังคับบัญชาระดับสูง การฝึกซ้อมภาคสนามหลากหลายรูปแบบเพื่อพัฒนาสัมพันธภาพระดับภูมิภาคและสมรรถภาพในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนโครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสังคมในชุมชนของไทย
โดยในเดือน มกราคม 2562 การฝึกร่วมผสมภายใต้รหัส (คอบร้าโกลด์ 2019) มีผู้เข้าร่วมการฝึกทั้งสิ้น 8,474 นาย มีการจัดกิจกรรมสำหรับโครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance : HCA) ) เป็นส่วนงานหนึ่งในการฝึก Cobra Gold 19 นอกเหนือไปจากการฝึกฝ่ายเสนาธิการร่วม (Staffex) และ การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (Combined Arms Live Fire Exercise : CALFEX) โดยกิจกรรมโครงการเป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในชุมชน ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่
1) โครงการก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือประชาชน (Engineer Civic Assistance Program : ENCAP)
2) การบริการด้านการแพทย์ (MEDCAP)
3) มวลชนสัมพันธ์ (COMREL)
โดยในปี 2562 นี้ มีโครงการก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือประชาชน (ENCAP) จำนวน 6 พื้นที่ โดยในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 มีจำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ SITE 1 โรงเรียนวัดจอมทอง ตำบลจอมทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก, SITE 2 โรงเรียนตาคลี ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวักนครสวรรค์, SITE 5 โรงเรียนบ้านชะลาดระฆัง จังหวัดตาก และ SITE 6 โรงเรียนบ้านเกาะอ้ายด้วน ตำบลวังหิน อำเภอเมือง จังหวัดตาก ซึ่งในพื้นที่ดำเนินการเหล่านี้ จะมีกิจกรรม Medical Civic Action Program (MEDCAP) และ กิจกรรมสร้างสัมพันธ์กับชุมชน (Community Relation : COMREL) อยู่ด้วย โดยจะทำกิจกรรมในวันเวลาตามที่ได้วางแผนไว้ในการประชุม Final Planning Conference Cobra Gold 19 แล้วนั้น
สำหรับกิจกรรมโครงการก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือประชาชน (Engineer Civic Assistance Program : ENCAP) นั้น เป็นการก่อสร้างอาคารร่วมกัน ระหว่างทหารไทย กับทหารสหรัฐอเมริกา และมิตรประเทศในทวีปเอเซีย ในแต่ละพื้นที่ปฏิบัติงาน (site) โดยรูปแบบของการก่อสร้างจะเป็นอาคารอเนกประสงค์ สำหรับพื้นที่ใน โรงเรียนที่มีความขาดแคลน ในส่วนด้านงบประมาณทางกองทัพสหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้สนับสนุนให้ทั้งสิ้น
การฝึกร่วมผสมภายใต้รหัส คอบร้าโกลด์ เป็นการฝึกร่วม/ผสมทางการทหารระดับพหุภาคีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศไทย เริ่มครั้งแรกจากการฝึกทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2525 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นแบบพหุภาคีโดยมีประเทศอื่น ๆ เข้าร่วม ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
วัตถุประสงค์ของการฝึกคอบร้าโกลด์ คือ ปรับปรุงการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในการฝึก นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมความสงบสุขและความมั่นคงในภูมิภาค การตอบสนองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 ส่วนหนึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการฝึกร่วม/ผสมนี้
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองและในยุคสงครามเย็น ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งสองประเทศได้เริ่มมีการฝึกทางทหารร่วมกันในปี พ.ศ. 2499 เป็นการฝึกผสมยกพลขึ้นบกระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือและหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา
ต่อมาเพื่อให้การฝึกมีลักษณะบูรณาการมากขึ้น กองทัพไทยและกองทัพสหรัฐอเมริกาได้เริ่มการฝึกร่วม/ผสมภายใต้รหัส “คอบร้าโกลด์” ในปี พ.ศ. 2525 ครั้งนั้นกองทัพเรือไทยและกองทัพอากาศไทยจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกโดยดำเนินการฝึกปฏิบัติการทางเรือ ทางอากาศ และการยกพลขึ้นบก ร่วมกับกองทัพเรือและนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา กำหนดรหัสว่า “คอบร้าโกลด์ 82″
ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 กองทัพบกไทยได้จัดหน่วยรบพิเศษเข้าร่วมการฝึกอีกเหล่าทัพหนึ่ง กล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกร่วมและผสมครบทั้งสามเหล่าทัพเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากนั้นกองบัญชาการทหารสูงสุดได้เข้ารับผิดชอบดำเนินการฝึกคอบร้าโกลด์ 86 ในปี พ.ศ. 2529 โดยเน้นการฝึกหน่วยทหารในการปฏิบัติการรบตามแบบ ด้วยกำลังขนาดใหญ่ระดับกองกำลังเฉพาะกิจร่วมและผสม เข้าปฏิบัติการในยุทธบริเวณ และดำเนินการฝึกต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน มีกำลังจากกองทัพไทยทุกเหล่าทัพเข้าร่วมฝึกหมุนเวียนไปตามกองทัพภาคและกองเรือภาค ในปัจจุบันการฝึกคอบร้าโกลด์ถือได้ว่าเป็นการฝึกร่วมและผสมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อสงครามเย็นยุติลง สถานการณ์ด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปโดยแนวโน้มของการเกิดสงครามขนาดใหญ่มีความเป็นไปได้น้อย พ.ศ. 2543 การฝึกคอบร้าโกลด์จึงได้เพิ่มรูปแบบการฝึกให้มีปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม ภายใต้กรอบของสหประชาชาติเข้าไว้ด้วย เช่น การรักษาสันติภาพ การต่อต้านการก่อการร้าย การบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอื่น ๆ มีการขยายขอบเขตการฝึกจากการฝึกแบบทวิภาคีเป็นการฝึกเป็นพหุภาคี โดยสิงคโปร์เป็นชาติแรกที่เข้าร่วม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประเทศที่สนใจจัดผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกได้