รมว.พม. ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ชู “ข่วงเปาโมเดล” ต้นแบบงานพัฒนาสังคมแบบบูรณาการของคนทุกช่วงวัย
วันนี้ (14 ม.ค. 62) เวลา 10.30 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม
และความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และทีม พม. One Home จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนและรับฟังข้อเสนอแนะและความต้องการของประชาชน อีกทั้งติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ในพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ
พลเอก อนันตพร กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวง พม. มีภารกิจหลักในการรับผิดชอบประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ตั้งแต่ เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งราษฎรบนพื้นที่สูง โดยมุ่งเน้นการสนับสนุน พัฒนา ช่วยเหลือ และดูแลประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายได้รับสวัสดิการของรัฐอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ อีกทั้งเป็นจังหวัด ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการลงทุน จนมีการพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่ อันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร อีกยังมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมากมาย ทั้งนี้ การลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ มีการพบปะเยี่ยมเยียนและรับฟังข้อเสนอแนะและความต้องการของประชาชน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ตำบลข่วงเปา เป็นพื้นที่ที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการบูรณาการพัฒนาคนทุกช่วงวัยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในระดับจังหวัดและในพื้นที่ โดยใช้ฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย GPS มาวิเคราะห์ในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหา ด้วยกลไกขับเคลื่อนทุกช่วงวัย ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกระดับและมีหลักสูตรบริหารจัดการเชิงพื้นที่ อีกทั้งมีการตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนตำบลบูรณาการทุกช่วงวัย และมอบงบประมาณบ้านพอเพียงชนบทปี 2562 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 216 หลัง
อีกทั้งเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) และ เยี่ยมชมบูธกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมสภาเด็กและเยาวชน การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการ การสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนา การสาธิตการทำและแสดงผลิตภัณฑ์ ระบบการดูแลคนไร้ที่พึ่งในชุมชน (LTC : Long Term Care) ธนาคารความดี การส่งเสริมการออมในผู้สูงวัย การบูรณาการโครงการบ้านมั่นคงและบ้านพอเพียง และการบริการให้ยืมกายอุปกรณ์สำหรับคนพิการ เป็นต้น พลเอก อนันตพร กล่าวต่อไปว่า จากนั้น ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของข่วงเปาโมเดล บ้านหนองปุ๊ หมู่ 18 ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจพอเพียง 2) บ้านมั่นคงชนบท และ 3) ศูนย์คนไร้ที่พึ่งระดับตำบล ซึ่งการดำเนินงานของพื้นที่ดังกล่าว มีการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการที่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังนี้ 1) เด็กแรกเกิด – ปฐมวัย มีเด็กได้รับสวัสดิการ เด็กแรกเกิดจำนวน 65 คน เด็กช่วงอายุ 2 – 5 ปี ได้รับการพัฒนาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลข่วงเปา จำนวน 70 คน 2) สภาเด็กและเยาวชนตำบล มีคณะบริหาร จำนวน 21 คน สมาชิกจำนวน 235 คน เป็นเครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัด 15 เครือข่าย 3) สตรีและครอบครัว มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนตำบล ซึ่งมีคณะกรรมการจำนวน 21 คน สมาชิก จำนวน 122 คน และเตรียมยกระดับเป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) 4) ผู้ด้อยโอกาส มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครอง คนไร้ที่พึงตำบลข่วงเปา เพื่อช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งและขอทานในพื่นที่ อบต. ข่วงเปา และบ้านมั่นคงเมืองและชนบท “ข่วงเปาโมเดล” ซึ่งดำเนินการ จำนวน 329 ครอบครัว ใน 5 ชุมชน 5) วัยแรงงาน มีจำนวน 3,890 คน และมีกลุ่มอาชีพ จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางเกษตร กลุ่มเย็บผ้า ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย และกลุ่มเกษตรปลอดสารพอเพียง 6) คนพิการ มีการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป มีคณะกรรมการศูนย์ฯ จำนวน 17 คน สมาชิกเครือข่าย จำนวน 53 คน 7) ผู้สูงอายุ มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลต้นแบบระดับประเทศ ด้วยนวัตกรรม “การส่งเสริมการออม” เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงในชีวิตในระยะยาว และโรงเรียนคลังปัญญาผู้สูงวัย และ 8) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลข่วงเปา ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2553 มีคณะกรรมการจำนวน 11 คน สมาชิก จำนวน 628 คน ปัจจุบันมีเงินกองทุน จำนวน 687,663 บาท โดยจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และสวัสดิการอื่น ๆ
พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการรณรงค์และป้องกันความรุนแรง
ในทุกรูปแบบ ภายใต้ชื่อ “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดยในปีงบประมาณ 2562 มีการกำหนดให้เรื่องดังกล่าวเป็น 1 ใน 13 โครงการสำคัญ (Flagship) ของกระทรวง พม. ที่ทุกส่วนราชการจำเป็นต้องร่วมกันบูรณาการและขับเคลื่อนงาน เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้ความรุนแรง โดยระดับพื้นที่มีการผลักดันให้เกิดตำบลต้นแบบไร้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ด้วยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำ ความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้ ตนได้เป็นประธานในพิธีเปิด ศปก.ต. ของตำบลข่วงเปา อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ทุกคนในชุมชมได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในสังคม โดยเริ่มต้นจากครอบครัว ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมแบบบูรณาการของ คนทุกช่วงวัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม หากประชาชนในพื้นที่พบเห็นหรือประสบปัญหาทางสังคม ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว หรือต้องการฝึกทักษะพัฒนาอาชีพ สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มทีต่อไป
######################################