ข่าวมุกดาหาร ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมุกดาหาร ยื่นขอความเป็นธรรมการกดราคารับซื้อยางพารา

21 เมษายน 2568  นายแสวง ใสเย็น ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดมุกดาหาร พร้อมสมาชิก เข้ายื่นขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการกดราคารับซื้อยางพารา ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมุกดาหาร โดยมีนางสาวควีนน์ ซาซิโย ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมุกดาหาร มารับหนังสือจากตัวแทนเกษตรกร  เนื่องจากสถานการณ์ราคายางพาราซื้อขายในตลาดภายในประเทศในห้วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 มีราคาลดลงและตกต่ำประมาณ 10 บาทต่อ 1 กิโลกรัม อย่างมีนัยสำคัญและมีทีท่าว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลต่อพี่น้องเกษตรกรขาวสวนยาง ในด้านต้นทุนการผลิตและประสบภาวะขาดทุนและก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชีวิตและครอบครัวเกษตรกรชาวสวนยางอย่างมาก ทั้งที่ สินค้ายางพาราเป็นสินค้าทางเกษตรที่สำคัญและมีการควบคุม กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกลุ่มนายทุน บริษัทรับซื้อยางพารารายใหญ่ ได้ใช้วิธีการรับซื้อที่ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร จงใจกดราคารับซื้อให้ต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงเกินสมควรทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคายางพาราในตลาด การกระทำดังกล่าวมีพฤติการณ์เจตนา ฝ่าฝืนกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29, มาตรา 41 โดยการกระทำดังกล่าว ไม่สะท้อนต่อราคาที่แท้จริง หวังเพียงเพื่อผลกำไรของกลุ่มทุนของตนเท่านั้น เป็นการเอาเปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ขาดไร้คุณธรรม ส่งผลต่อราคาตลาดในภาพรวม เป็นการฉกฉวยโอกาสและถือโอกาสกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม โดยอาศัยสถานการณ์ที่ผู้น้ำประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการทางภาษี 37% ซึ่งมาตรการดังกล่าว ก็มีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 90 วันแล้ว และยางพาราที่ทำการซื้อขายก็ไม่ใช่สินค้าที่อยู่ในห้วงการส่งออกไปยังต่างประเทศแต่ประการใด จึงอาจเข้าข่ายการกักตุนสินค้ายางพาราเพื่อเก็งกำไรหรือเป็นการกดราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ทางการค้าที่เอาเปรียบและย่ำยีชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 1.6 ล้านครอบครัว รวมสมาชิก 5 ล้านคน ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก


สมาชิกกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางจึงขอให้พิจารณามีมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้ 1. ให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ออกประกาศกำหนดราคาซื้อ ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรมต่อชาวเกษตรกรชาวสวนยางพารา (โดยให้มีการหารือ ประสานข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนมีการออกประกาศ) 2. ให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ออกประกาศกำหนดตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ ให้ผู้รับซื้อยางพาราแจ้งปริมาณ ณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย แผนการผลิต แผนการนำเข้า แผนการส่งออก แผนการซื้อ แผนการจำหน่าย แผนการเปลี่ยนแปลงราคา หรือรายการการอื่นใดที่เกี่ยวข้องในการรับซื้อ การจำหน่ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการควบคุมสินค้ายางพาราให้มีเสถียรภาพทางราคา ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร (โดยให้มีการหารือ ประสานข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนมีการออกประกาศ) 3. เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับพฤติการณ์ หรือการกระทำที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาสินค้ายางพาราต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมสมควร หรือทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้ายางพารา ให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควรหรือ ทำให้ปั้นป่วนซึ่งราคา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 29 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 (โดยให้มีการหารือ ประสานข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนมีการออกประกาศ) 4. ให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ สั่งการอธิบดีกรมการค้าภายใน และ/หรือเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง ประสานการยางแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ดำเนินคดีกับนายทุน บริษัทรับซื้อยาพารา ที่ได้จงใจกดราคารับซื้อให้ต่ำกว่าราคาเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคายางพารา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29 มาตรา 41, มาตรา 42 5. เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการขนย้ายยางพาราในพื้นที่ชายแดนที่มีความเสี่ยงต่อการนำยางพาราที่มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศ หรือนำเข้าจากต่างประเทศ ให้มีมาตรการในการควบคุมการขนย้ายยางพาราในพื้นที่ชายแดนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพป้องกันการลักลอบน้ำเข้า หรือการนำยางพารานำเข้าสวมเป็นยางพาราในราชอาณาจักรไทย ให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ หรือคณะกรรมการส่วนจังหวัด อาศัยอำนาจตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่องการควบคุมการขนย้ายยางพาราและหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาต การอนุญาต แบบหนังสืออนุญาต และวิธีการขนย้ายยางพารา
ที่เหมาะสมเป็นธรรมมีประสิทธิภาพ (โดยให้มีการหารือ ประสานข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนมีการออกประกาศ)

6. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย ประสาน อธิบดีกรมสรรพากร, เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบบริษัทที่รับซื้อยางพาราที่มีการกดราคากับเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม มีการจัดทำบัญชีรับซื้อ/ขายไม่ตรงกับความเป็นจริง ราคาซื้อ ราคาจำหน่ายไม่ตรงกับต้นทุน (ข้อมูลบริษัท ดังกล่าวมีอยู่ที่การยางแห่งประเทศไทย ) อันมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยให้ อธิบดีเข้าไปหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการนั้นๆ หรือ ยานพาหนะใดเพื่อทำการตรวจค้น ยึด หรืออายัดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่า เกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสีย เพื่อดำเนินการตามประมวลรัษฎากร ให้มีการชำระภาษีแก่รัฐโดยถูกต้อง ครบถ้วน โดยให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตามกฎหมายทุกบทความผิดต่อไปด้วย 7. ให้ปรับปรุงบทกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 8. ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยางฯ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยควบคุมสินค้าและบริการ เข้าตรวจบัญชีการรับซื้อยาง บัญชีคุมคุมสินค้า ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ, พ.ร.บ.ควบคุมยางฯ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการสินเชื่อเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง (คก. 10,000 ล้าน – 5,000 ล้าน) ที่ผ่านคณะกรรมการยางธรรมชาติ (กนย.) เพื่อขยายเวลาการชำระหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางต่อไป

ไกรสมุทร นามโพธิ์ไทร รายงาน