ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเชียงใหม่ ข่าวเด่น

เหล็กค้ำโพธิ์ โชว์งานศิลป์ ประเพณีแปลกตาหนึ่งเดียวในโลก บ้านกองหิน อ.ฮอด เชียงใหม่

17 เมษายน 2568  วัดศิลานิมิตร (บ้านกองหิน) ตำบลหางดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ จัดงาน “แห่เหล็กค้ำโพธิ์ โชว์งานศิลป์ เพื่อการอนุรักษ์ยั่งยืน” ภายใต้แนวคิด “ประเพณีไม่หาย ต้นไม้ยังคงอยู่” ประจำปี 2568 สืบสานประเพณีเก่าแก่ด้วยรูปแบบใหม่ที่สร้างความฮือฮา และถือเป็นหนึ่งเดียวในโลก โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยนำโดย พระครูประยุต ขันติคุณ เจ้าอาวาสวัดศิลานิมิตร รองเจ้าคณะอำเภอฮอด ร่วมกับ เทศบาลตำบลท่าข้าม และพี่น้องประชาชนจากบ้านกองหินและพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมใจจัดขบวนแห่จากหน้าโรงเรียนบ้านกองหิน เข้าสู่บริเวณหน้าวัดศิลานิมิตรอย่างยิ่งใหญ่

โครงการเหล็กค้ำโพธิ์ ถือเป็นการต่อยอดแนวคิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมร่วมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยแทนที่ “ไม้ค้ำโพธิ์” แบบดั้งเดิมด้วย เหล็กค้ำโพธิ์ ที่มีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ภายในวัดต่อได้ เช่น การก่อสร้าง หรือซ่อมแซมศาลาการเปรียญ ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าในระยะยาวในปีนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันเตรียม เหล็กค้ำโพธิ์จำนวน 112 เล่ม เพื่อนำมาเพ้นท์สี และจัดแสดงในขบวนแห่อย่างวิจิตรอลังการ โดยมีเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และเครือข่ายชุมชนร่วมกันตกแต่งเหล็กแต่ละชิ้นเป็นผลงานศิลป์ พร้อมแฝงด้วยความเชื่อ ความศรัทธา และความตั้งใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม

พระครูประยุต ขันติคุณ กล่าวว่า แนวคิดนี้ริเริ่มโดย อาจารย์มานิตย์ โกวฤทธิ์ ศิลปินวาดภาพผู้มองเห็นปัญหาจากภัยธรรมชาติ และเสนอแนวทางการใช้เหล็กแทนไม้ในประเพณีค้ำโพธิ์ โดยนำโครงการนี้เผยแพร่สู่เทศบาลตำบลท่าข้าม และต่อมาได้รับการสานต่อโดยวัดศิลานิมิตร และชาวบ้านอย่างจริงจัง

อาจารย์มานิตย์ กล่าวว่า ไอเดียนี้เริ่มต้นจากความห่วงใยธรรมชาติ และต้องการให้ประเพณีล้านนายังคงอยู่ควบคู่กับสิ่งแวดล้อม จึงเลือกเหล็กเป็นวัสดุใหม่ ที่ไม่เพียงแค่ใช้งานได้นาน แต่ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในศิลปะผ่านการเพ้นท์ตกแต่งเหล็กอย่างสร้างสรรค์ ประเพณีแห่เหล็กค้ำโพธิ์ จึงกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของโลกที่มีเฉพาะในอำเภอฮอด โดยยังคงรักษาแก่นแท้ของความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ไว้ พร้อมทั้งปรับให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม โครงการนี้ยังสร้างพื้นที่เรียนรู้และสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน ส่งเสริมความสามัคคีในชุมชน และปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นเป้าหมายหลักของโครงการ “เหล็กค้ำโพธิ์ โชว์งานศิลป์ – ประเพณีไม่หาย ต้นไม้ยังคงอยู่” งานแห่เหล็กค้ำโพธิ์ ปีนี้จึงไม่เพียงเป็นพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม หากแต่เป็นเวทีสร้างพลังให้กับชุมชน ในการรักษาความงดงามของอดีต และต่อยอดให้เป็นพลังแห่งอนาคตอย่างแท้จริง.