Reporter&Thai Army ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเชียงใหม่ ข่าวเด่น นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

(มีคลิป) “รองปลัดกระทรวงมหาดไทย” ร่วมงานเปิด เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังนโยบายระดับประเทศ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของภาคเหนือ

“รองปลัดกระทรวงมหาดไทย” ร่วมงานเปิด เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังนโยบายระดับประเทศ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 เวลา 09.00 น. นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีนางสาวจริยาพร จิตต์ใจมั่น รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้กล่าวรายงาน การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังนโยบายระดับประเทศของภาคเหนือ

กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการวางผังนโยบายระดับประเทศ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในด้านการใช้พื้นที่ การพัฒนาเมืองและชนบท การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้ดำเนินการจัดประชุมขึ้นทั้งในรูปแบบการประชุมแบบ On-Site และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) ระบบ Zoom Webinar เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างผังนโยบายระดับประเทศอย่างทั่วถึง

ภายในงานจะมีการนำเสนอข้อมูลสำคัญในช่วงแรก ได้แก่ การนำเสนอภาพรวมของโครงการ และกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศและภาค โดย คุณมนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล และคุณทวีรัตน์ จิรดิลก ซึ่งได้นำเสนอถึง “การพัฒนาประเทศไทยผ่านผังนโยบายระดับประเทศ” ในฐานะแผนระดับที่ 3 ของชาติ ที่พร้อมขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติโดยอาศัยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังได้นำเสนอถึงข้อมูลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในระดับโลก หรือ Megatrends ประกอบด้วย การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภาวะสงครามทางการค้าและการแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจโลก แนวโน้มของความเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสังคมยุคดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากนั้นได้นำเสนอประเด็นการพัฒนาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องตระหนักถึงและให้ความสำคัญอย่างยิ่งปัจจุบัน ได้แก่ การวางแผนรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง, การเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ พร้อมกับภาวะการขาดแคลนแรงงานที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, การจัดเตรียมที่อยู่อาศัยในเขตเมืองอย่างเพียงพอรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองของประเทศ, การสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศด้วยการพัฒนาเกษตรสร้างมูลค่า อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ท่องเที่ยวคุณค่าสูง และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษให้เป็นศูนย์ด้านการลงทุนในระดับภูมิภาค, การกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์มากขึ้น

เนื่องจากสถานการณ์การลดลงอย่างต่อเนื่องของพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยที่ต้องเร่งสร้างความยั่งยืนโดยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 35 ของพื้นที่ประเทศ พร้อมทั้งเร่งแก้ปัญหาการขยายตัวของพื้นที่เมืองอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) สร้างผลกระทบต่อการลดลงของพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่แหล่งน้ำ และพื้นที่ป่าไม้, การกำหนดแนวทางการตั้งถิ่นฐานปลอดภัย พร้อมทั้งการแก้ปัญหาความไม่สมดุลของโครงสร้างระบบเมืองจากการที่ประเทศไทยมีเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการกระจายโอกาส การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะได้อย่างเพียงพอ โดยการสร้างสมดุลของระบบเมืองเป็นลำดับศักดิ์และยกระดับการพัฒนาเมืองรองให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค, การผลักดันการพัฒนาประเทศไทยสู่การแข่งขันในระดับสากลในด้าน Global Aviation Hub, Digital Hub และ Medical Hub, การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และส่งเสริมให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด

ผังนโยบายระดับประเทศจึงเป็นแผนนโยบายด้านกายภาพที่จะช่วยแก้ปัญหาและพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศอย่างเป็นองค์รวม สร้างโอกาสการมีงานทำ และกระจายโอกาสการพัฒนาอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประเทศไทยเป็น “ประเทศที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เชื่อมโยงภูมิภาค ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม พร้อมรับการเติบโตอย่างยั่งยืน” ตามวิสัยทัศน์ ปี พ.ศ. 2580 ของโครงการ นอกจากนี้ จากการเห็นพ้องร่วมกันของทุกภาคส่วนในเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ที่ผ่านมา จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศไทยภายใต้กรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศและภาค พ.ศ. 2580 ไว้ดังนี้

การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่ง โครงข่ายสื่อสาร และโครงข่ายพลังงานทั้งในและระหว่างประเทศ, การพัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมมูลค่าสูงแห่งอนาคต, การพัฒนาศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ, การพัฒนาพื้นที่เมืองและชนบทให้เติบโตอย่างสมดุล น่าอยู่ , การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค, การอนุรักษ์และฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ช่วงเวลาสำคัญถัดมาของการประชุมคือ การนำเสนอ “ร่างผังนโยบายรายสาขา” ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของงานประชุมในครั้งนี้ นำเสนอโดย รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนภาคและเมือง ร่วมกับ ผศ.ดร.ศิรดล ศิริธร ผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมและการขนส่ง และ ผศ.ดร.ไชยาพงศ์ เทพประสิทธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ เพื่อบรรยายให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านทราบถึงนโยบายการพัฒนาพื้นที่ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2580 ในด้านต่าง ๆ ทั้งหมด 14 สาขาได้แก่ นโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่, นโยบายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ, นโยบายการตั้งถิ่นฐานและระบบชุมชน,ืนโยบายการพัฒนาเมืองและชนบท, นโยบายโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยว, นโยบายศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, นโยบายพื้นที่พัฒนาพิเศษ, นโยบายโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมและการขนส่ง, นโยบายการเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค, นโยบายโครงสร้างพื้นฐานการพลังงาน, นโยบายโครงสร้างพื้นฐานการจัดการน้ำ, นโยบายโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ, นโยบายโครงสร้างพื้นฐานการสาธารณสุข และนโยบายโครงสร้างพื้นฐานการศึกษา

และทั้งหมดนี้คือ ภาพรวมของทิศทางการพัฒนาพื้นที่ประเทศไทยในอนาคต ที่จะเกิดขึ้นจากกรอบนโยบายการพัฒนาพื้นที่ที่ผังนโยบายระดับประเทศกำหนด เพื่อให้การพัฒนาประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดความยั่งยืน

จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการระดมความคิดเห็นต่อ “ร่างผังนโยบายระดับประเทศ” ของภาคตะวันออก โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวนกว่า 700 คน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคเอกชน ประชาชน สื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมทั้งในรูปแบบ On-Site และ Online ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างดียิ่ง และจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในที่ประชุมมาใช้ปรับปรุงผังนโยบายระดับประเทศต่อไป.