วันที่ 15 ตุลาคม 2561 ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คณะอนุกรรมการจัดโครงการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพบประชาชนตามวิถีไทยนิยมยั่งยืน (เขต 12) ประกอบด้วย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานอนุกรรมการ พลเอก ภาณุวัชร นาควงษม์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอนุกรรมการ ได้ลงพื้นที่ติดตามและเยี่ยมชมโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยมีนายอำเภอแม่ลาน้อย พัฒนาการชุมชน ส่วนราชการให้การต้อนรับ ดังนี้– เวลา 09.00 นาฬิกา ลงพื้นที่บ้านละอูบ ตำบลแม่ลาน้อย เยี่ยมชมโครงการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จุดแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวหมู่บ้านละอูบ เยี่ยมชมหมู่บ้าน ชมการแสดงนักเรียนบ้านละอูบ (ฟ้อนดาบ การละเล่นวิถีชีวิต) ชมสาธิตการทอผ้า ชมกลุ่มกลุ่มตีเครื่องเงิน ชมโฮมสเตย์บ้านนายยอนสัน และเยี่ยมชมวิถีคนละว้า
– เวลา 13.00 นาฬิกา ลงพื้นที่พบปะประชาชน จำนวน 30 คน ณ บ้านแม่ลาหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ลาน้อย เพื่อติดตามโครงการปรับปรุงหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน โอกาสนี้ยังต้องการขอปรับปรุงประปาน้ำดื่ม รวมถึงการช่วยแก้ปัญหาราคากระเทียมตกต่ำ
-เวลา 14.00 นาฬิกา ลงพื้นที่พบปะประชาชน จำนวน 30 คน ณ บ้านสันติสุข หมู่ 5 ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย เพื่อติดตามโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเก็บวัสดุและอุปกรณ์เครื่องครัว ซึ่งแต่ก่อนประสบปัญหาสถานที่จัดเก็บไม่เพียงพอ ทางคณะกรรมการชุมชนจึงได้บริหารจัดการด้วยตนเอง ทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง แต่ประสบปัญหาในการดำเนินการ คือ ช่างไม่เพียงพอ
ในการนี้ คณะฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ ดังนี้
1. สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งท้องถิ่นจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยทราบว่าที่ผ่านมาท้องถิ่นได้มีการจัดตั้งของบประมาณไปยังกรมทรัพยากรน้ำเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงอยากให้มีการลองสำรวจเพื่อจัดตั้งของบประมาณใหม่ในส่วนนี้
2. ปัญหาราคากระเทียม ควรมีการจัดการจำนวนเพาะปลูกเพื่อไม่ให้กระทบกับราคา
3. แนะนำวิธีสร้างความมั่นคงภายในหมู่บ้าน โดยเห็นว่าควรมีการรวมตัวกันตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์หมู่บ้าน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนสำหรับการแก้ไขปัญหาพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงสอนหลักปรัชญาภูมิคุ้มกัน ให้รู้จักอดออม เพื่อให้สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง
4. คณะฯ ได้กล่าวชมเชยทั้งสองหมู่บ้านที่สามารถดำเนินโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
5. วิถีชีวิตของคนจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีประเพณี วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละชนเผ่าที่มีเสน่ห์แตกต่างกัน ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวได้
6. ควรส่งเสริมอัตลักษณ์หรือจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ให้เกิดแลนด์มาร์ค เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยว
ภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน