17 ม.ค. 2568 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลส้มป่อย อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ผศ.ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปี 2568 โครงการย่อยที่ 4.3 พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจากอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสินค้า Soft Power ไทย เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย จากผลิตภัณฑ์หอมแดง และกระเทียม โดยมีผู้นำชุมชนและกลุ่มแม่บ้านในเขตตำบลส้มป่อยเข้าร่วมอบรม จำนวน 60 คน
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและยกระดับศักยภาพของผลิตภัณฑ์จากชุมชนท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มในระดับสากล ผ่านการใช้พลังของ Soft Power ของประเทศไทย ในด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาและส่งเสริม
คือ ผลิตภัณฑ์จากหอม กระทียม ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่มากมายในชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ทั้งในด้านการผลิตอาหาร แปรรูป และการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร เครื่องใช้ หรือของที่ระลึก ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยมุ่งเน้นการนำทรัพยากรจากชุมชนท้องถิ่น เช่น หอม กระเทียม มาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า มีช่องทางทางในการขายสินค้าได้กว้างขึ้น ทันสมัยขึ้น และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกด้วย.
บุญทัน ธุศรีวรรณ รายงาน