ระหว่างวันที่ 6-11 ธันวาคม 2567 ณ โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดคามี มีการจัดงาน “1 ทศวรรษ มหัศจรรย์ 10 ชาติพันธุ์แม่สาย” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2567 โดยพิธีเปิดงานในครั้งนี้ โดย มีฯพณฯ พลาก สุวรรณรัฐ องคมนตรีเป็นประธานเปิดงาน
ภายในงานมีการนำเสนอวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมทั้งหมด 11 กลุ่ม ได้แก่ ไท-ยวน, ไทลื้อ, ไทเขิน, ไทใหญ่, ไตหย่า, จีนยูนนาน, อาข่า, ลาหู่, ดาราอั้ง, ลัวะ และคะฉิ่น นอกจากนี้ยังมีการเชิญชวนกลุ่มชาติพันธุ์จากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมกลุ่มชาติพันธุ์บ้านม้งจากอำเภอแม่ฟ้าหลวง ร่วมจัดงานในครั้งนี้ด้วย
เนื่องในโอกาสที่ปีนี้เป็นการจัดงานครบ 10 ปี จึงมีการเชิญ ฯพณฯ องค์มนตรี พลเอก พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดยมีนายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นางสินีนาฎ ทองสุข นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย และคณะผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยประชาชนและผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ
ภายในงานมีการแบ่งกิจกรรมออกเป็นหลายโซน ได้แก่ โซนหมู่บ้านจำลองของชาติพันธุ์ที่แสดงวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม สินค้าหัตถกรรม อาหารชาติพันธุ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น โซนการละเล่น การจำลองงานประเพณี การจำหน่ายและสาธิตอาหาร งานหัตถกรรม ภูมิปัญญา ความเชื่อ และการแพทย์ รวมถึงโซนอาหารสี่ภาค และสินค้าชุมชน (OTOP) ร้านค้าของโครงการหลวงและโครงการพระราชดำริ อีกทั้งยังมีการจัดเวทีกลางแจ้งและลานขันโตกเพื่อสร้างบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง
นอกจากนี้ในคืนวันที่ 10 ธันวาคม 2567 ยังมีการแสดงจากตัวแทนศิลปินชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ หรือ อาจารย์ชิ จากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ร่วมแสดงเพื่อส่งเสริมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของอำเภอแม่สาย ผ่านการเฉลิมฉลองมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและความสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่น นับเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้และยกย่องภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการเชื่อมโยงและสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ
การจัดงานในปีนี้จึงเป็นการส่งเสริมและปลูกฝังคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจและความเข้มแข็งให้กับชุมชนในอำเภอแม่สายและจังหวัดเชียงรายต่อไป