เตรียมพบกับปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี! มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลจัดงาน “VU Amazing Funfah” ฉลองครบรอบ 40 ปี อย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 14-22 ธันวาคม 2567 ด้วยงบประมาณกว่า 40 ล้านบาท นำเสนอการแสดงแสง สี เสียงสุดอลังการเทิดทูนวีรกรรม “วีรสตรีเมืองโคราช” ผ่านการแสดงชุดพิเศษ “ย่าฉันท่านชื่อโม” ในตอน “บุญเหลือหลานย่า ผู้กล้าแห่งทุ่งสัมฤทธิ์” ที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจและภาคภูมิใจให้กับผู้ชมทุกคน นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ดร. ณัฐวัฒม์ วงษ์ชวลิตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล, นายสนธยา อ่อนน่วม ที่ปรึกษาฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กรและอาคารสถานที่ ผู้กำกับการแสดง ร่วมกันแถลงข่าวเตรียมจัดงาน “VU Amazing Funfah” ฉลองครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ที่ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล อ.เมือง จ.นครราชสีมา
โดยภายในงานมีการแสดง แสงสี ตัวอย่างฉากสำคัญจากการแสดงที่จะถ่ายทอดเรื่องราวแห่งความกล้าหาญของ “นางสาวบุญเหลือ” ผู้เสียสละเพื่อปกป้องแผ่นดิน ถ่ายทอดผ่านเทคโนโลยีแสง สี เสียงระดับโลก ผสมผสานกับศิลปะการแสดงที่สมจริง โดยมีทีมนักแสดงนำมากฝีมือ ได้แก่ นายภัคณัฏฐ์ ธนโชควราพัฒน์ (มิสเตอร์นครราชสีมาปี 2567) รับบทเป็นสามีของบุญเหลือ และ นางสาวภัณฑิลา หวังชิวกลาง (รองอันดับ 1 นางสาวนครราชสีมาปี 2567) รับบทเป็น “บุญเหลือ”
ภายในงานผู้ชมจะได้สัมผัสบรรยากาศแห่งประวัติศาสตร์ของโคราชผ่านศิลปะการแสดงที่ยิ่งใหญ่อลังการพร้อมกิจกรรมหลากหลายที่สะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา เพลิดเพลินกับร้านค้าและอาหารจากร้านชื่อดังในจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียง การแสดงแสง สี เสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ตอน บุญเหลือหลานย่า ผู้กล้าแห่งทุ่งสัมฤทธ จะมีขึ้นระหว่าง วันที่ 17-22 ธันวาคม 2567 ณ หอประชุมวงษ์ชวลิตกุล ตั้งแต่เวลา 13.30 น. งานนี้ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย การจัดงานครั้งนี้ไม่เพียงเฉลิมฉลอง 40 ปีของมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล แต่ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าของชาวโคราชและคนไทยทั้งประเทศ เตรียมตัวให้พร้อม แล้วมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี “VU Amazing Funfah” ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วพบกันที่มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล เตรียมเปิด “สยามโคราชนิรมิต” แลนด์มาร์คประวัติศาสตร์ “ท้าวสุรนารี” แห่งใหม่เมืองโคราช จะแสดงถึงวีรกรรมของ ย่าโม ในรูปแบบหุ่นขี้ผึ้งจำลองในเหตุการณ์สำคัญในอดีตที่แรกที่เดียวในประเทศไทย
อภิรักษ์ ศรีอัศวิน รายงาน