27 พฤศจิกายน 2567 ที่ ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย(ปอมท.) ได้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 เป็นที่เรียบร้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาที่มีผลงานโดดเด่นด้านการสอนและการถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ ให้ปรากฏเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมสืบไป และเข้ารับโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ผลการคัดเลือกอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 มีดังนี้ 1. อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรัตน์ เลาห์บุตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2. อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4. อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขามนุษยศาสตร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.โสภนา ศรีจำปา มหาวิทยาลัยมหิดล 5. อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 6. อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขารับใช้สังคม ได้แก่ ศาสตราจารย์ นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล มหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ได้จัดให้มีพิธีรับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี พ.ศ. 2567 ของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย(ปอมท.) ร่วมกับสภาพนักงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 21-22 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ อวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น
นอกจากนี้ การจัดประชุมวิชาการประจำปีของ ปอมท. ครั้งนี้ ยังมีเป้าหมายเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มของคณาจารย์และสมาชิกสภาคณาจารย์ในประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วนทางอุดมศึกษาของประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิด และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์” โดยมุ่งเน้นในด้านให้ประเทศไทยเป็น Hub ในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ด้าน AI ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนจะเปลี่ยนเป็นการนำ AI เข้ามาเสริมในหลักสูตรต่างๆ ด้วยการเน้นผลิตบุคคลากรแบบ Higher skilled workforce หรือแรงงานที่มีทักษะสูงเนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตอัตารากำลังออกมาได้เท่าความต้องการของการลงทุนในประเทศ โดยประเทศไทยได้เริ่มทำหลักสูตร semi-conductor ขึ้นเพื่อมุ่งตอบสนองอุตสาหกรรม 5.0 เพื่อตอบสนองนโยบาย เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งการผลิตบุคคลากรด้าน AI จำเป็นต้องเน้นด้าน ‘AI Literacy’ หรือ ‘ความฉลาดรู้ทางเอไอ โดยต้องปรับหลักสูตรให้มีAI เข้าไปรวมอยู่ในหลักสูตรต่างๆ หรือการจัดทำแผนการเรียนที่สามารถดึงคนที่จบการศึกษษไปแล้วให้กลับมาเรียนใหม่ทั้งนี้เพรามหาวิทยาลัยในปัจจุบันให้บริการเพียงกลุ่มคนที่มีอายุ 18-23 ปี ดังนั้นทุกมหาวิทยาลัยต้องปรับแผนการเรียนการสอนเพื่อดึงกลุ่มคนวันทำงานและผู้สูงวัยกลับเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะ โดยมหาวิทยาลัยต้องปรับรูปแบบการเรียนให้อยู่ในรูปของ การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ต้องพิจารณาว่าจะมีกระบวนการในเรื่องนี้อย่างไร หรือสร้างระบบนิเวศน์ในการเรียนรู้อย่างไรเพื่อสร้าง Lifelong Learning Culture ซึ่งการจะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ได้ต้องประกอบด้วย2 ส่วนคือ Growth mindset ซึ่งเป็นวิธีคิดที่เชื่อว่าทักษะและความรู้ความสามารถของเราสามารถพัฒนาได้ผ่านการเรียนรู้และการพยายามฝึกฝน และ adaptability to change หรือการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทั้งในสถานที่เรียนหรือสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ การประเมินขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยในมิติต่าง ๆ พบว่า มหาวิทยาลัยในไทยมีความก้าวหน้าในด้านคุณภาพงานวิจัย โดยผลงานวิจัยได้รับการยอมรับและการอ้างอิง รวมทั้ง มหาวิทยาลัยในไทยมีการพัฒนาในการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมและการสร้างสิทธิบัตร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศ แต่มหาวิทยาลัยไทยยังคงตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคในด้านคุณภาพการศึกษา อัตราส่วนนักศึกษาต่ออาจารย์ และสภาพแวดล้อมในการเรียนการสอน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยไทยยังต้องใช้ความพยายามเพื่อเข้าสู่กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 200 อันดับแรกของโลกให้ได้ ส่วนความสามารถในการสร้างนวัตกรรม มหาวิทยาลัยควรวิเคราะห์ข้อมูลในหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา การศึกษา และการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งช่วยให้มองเห็นโอกาสและความท้าทายในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและวางแผนการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม
การจัดการประชุมวิชาการในครั้งนี้ มีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “จริยธรรมและจรรยาบรรณการใช้ปัญญาประดิษฐ์กับการวิจัย และการปฏิบัติงาน” โดยวิทยากรเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศาสตราจารย์ ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์ภัทร์วดี มาศภูมิ Microsoft trainer certify ผู้เชี่ยวชาญ Microsoft Copilot และการบรรยาย เรื่อง “Digital Money และ Blockchain Technology ที่ส่งผลต่อการศึกษา เศรษฐกิจและสังคม” โดย คุณชานน จรัสสุทธิกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์เวิร์ดแลปส์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม DeFi Forward และผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain รวมทั้ง การนำเสนอผลงานวิจัยแบบวาจาและแบบโปสเตอร์จากคณจารย์ บุคลากรสายปฏิบัติการ และนิสิตนักศึกษา การประชุมวิชาการในครั้งนี้ มีจำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 400 คน
อภิรักษ์ ศรีอัศวิน รายงาน