ข่าว ร้อยเอ็ด ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

รมว.เกษตรฯ กำชับกรมชลประทาน ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชน 

24 ตุลาคม 67 นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ติดตามสภาพอากาศและการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด โดยได้กำชับกรมชลประทาน ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ล่าสุดฝนตกต่อเนื่องบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้วันนี้ต้องปรับการระบายน้ำเป็น 1,548 ลบ.ม./วินาที โดยใน 1-7 วันข้างหน้าจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็นไม่เกิน 1,900 ลบ.ม. /วินาที

โดยรายงานสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา 24 ต.ค.67 เวลา 07.00 น. สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,820 ลบ.ม./วินาที แนวโน้ม : เพิ่มขึ้น ระดับน้ำ : เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 13 ซม. แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 3.36 ม. สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,548 ลบ.ม/วินาที แนวโน้ม : เพิ่มขึ้น ระดับน้ำท้ายเขื่อน : ต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 3.34 ม. การคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C2 จ.นครสวรรค์ ใน 1-7 วันข้างหน้าอยู่ที่ 1,900 ลบ.ม. /วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราไม่เกิน 1,900 ลบ.ม. /วินาที  ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ  ส่วนคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำและการแจ้งเตือนจากหน่วยงานทางราชการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีฝนในระยะนี้ อาจส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป

ด้าน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 ต.ค. 67 เวลา 7.00 น. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.นครสวรรค์ (102) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (50) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (48) ภาคกลาง : จ.สุพรรณบุรี (45) ภาคตะวันออก : จ.ชลบุรี (39) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ชัยภูมิ (16) คาดการณ์ ช่วงวันที่ 24 – 26 ต.ค. 67 ร่องมรสุมเลื่อนลงไป พาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 27 – 29 ต.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น กับพายุโซนร้อน “จ่ามี” ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก  ส่วนสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 81% ของความจุเก็บกัก (65,240 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 71% (41,043 ล้าน ลบ.ม.)

อย่างไรก็ตาม สทนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 23 – 28 ตุลาคม 2567 ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน จึงขอให้เฝ้าระวังฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมทั้งแจ้งเตือนล่วงหน้าให้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

สมนึก บุญศรี  รายงาน