23 ตุลาคม 2567 นางสาวปรัชญาภรณ์ ศรีคุณ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ทำหน้าที่หัวหน้าสวนรุกขชาติเชตวัน ชุมชนเชตวัน ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ ให้การต้อนรับ นายกรัณย์พล แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ที่ไปตรวจติดตามความก้าวหน้าในการปฎิบัติงานของสวนรุกขชาติเชตะวัน หลังจากประสบอุทกภัย พร้อมเสนอแนะแนวทางการพัฒนา”อาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้”ที่ต้องอยู่ในพื้นที่ของสวนรุกขชาติเชตะวัน
นายกรัณย์พล แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 หลังจากได้เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ ที่สร้างเป็นไม้สักทั้งหลังเป็นทรงปั้นหยา ได้มอบนโยบายให้สวนรุกขชาติเชตะวันว่า ให้เร่งรัดในการจัดกิจกรรมใน”อาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้” อาทิการแสดงอุปกรณ์ เครื่องใช้ เรื่องราวประวัติศาสตร์การทำไม้ในประเทศไทยในอดีต เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินมาเยี่ยมชมพร้อมกับการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ที่พร้อมจะเข้ามาขับเคลื่อนทำให้ “สวนรุกขชาติเชตะวัน” เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ และขาดในสิ่งใดก็ให้แจ้งให้ทราบเพื่อที่จะให้การสนับสนุน อีกทั้งให้ขอกำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฎิบัติงาน
นางสาวปรัชญาภรณ์ ศรีคุณ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ทำหน้าที่หัวหน้าสวนรุกขชาติเชตะวัน กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้รับการส่งมอบจากการซ่อมแซมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 และได้ดำเนินการจัดเตรียมทำนิทรรศการในบริเวณชั้นที่หนึ่ง จนกระทั้งได้เกิดอุทกภัยในช่วงเดือนกันยายน และตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องปิดไว้ก่อน เพื่อจะได้ดำเนินการจัดการแสดงเรื่องราวการทำไม้ในจังหวัดแพร่ขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเข้าสู่ภาวะปรกติ
ในส่วนของนโยบายของ สำนักบริหารอนุรักษ์ที่ 13 ทางด้านผู้อำนวยการฯได้มอบหมายให้เร่งดำเนินการให้มีการจัดให้ “อาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้”เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์การทำไม้ในพื้นที่จังหวัดแพร่ และในจังหวัดล้านนาในอดีต พร้อมกับสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนและประชาชนผู้สนใจโดยทั่วไป ปัจจุบันได้แสดงเป็นพิพิธภัณฑ์การทำไม้ไปก่อน และปลายปีนี้จะเริ่มปรับปรุงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การทำไม้ในอดีตของจังหวัดแพร่ และล้านนาในอดีต ที่ครบถ้วนสมบูรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “อาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้” ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ “สวนรุกขชาติเชตะวัน” จังหวัดแพร่ เดิมเป็นอาคารสำนักงานป่าไม้ภาคแพร่-ป่าไม้เขตแพร่ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การทำไม้ของสยามมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2444 ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำยมซึ่งเป็นจุดสำคัญในการล่องไม้ตามแม่น้ำ แต่เนื่องจากปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง จึงได้มีการย้ายสำนักงานออกไป ต่อจากนั้นได้ปรับปรุงเป็นเรือนพักรับรองเชตวัน อาคารหลังนี้ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2563 ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่ อาคารหลังนี้ถือเป็นตัวแทนของความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมป่าไม้สยาม เป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ด้านการป่าไม้ในอดีต เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการทำป่าไม้ในจังหวัดแพร่และล้านนาให้ประชาชนได้รับรู้และเห็นความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ “สวนรุกขชาติเชตวัน” กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ญาณัจฉรา โชติถนอมกิจ รายงาน