ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวปราบยาเสพติด ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเชียงใหม่ ข่าวเด่น นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

(มีคลิป) ป.ป.ส. เสริมเขี้ยวเล็บ หน่วยสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ในพื้นที่ชายแดนเหนือ”

ป.ป.ส. เสริมเขี้ยวเล็บ หน่วยสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ในพื้นที่ชายแดนเหนือ”

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เวลา 13.00 น. โรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม โครงการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด รุ่นที่ 1 โดยมี พล.ท. กิตติพงศ์ ชื่นใจชน แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (ผบ.นบ.ยส.35 )เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดด้วย

โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมองค์ความรู้ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ในพื้นที่ชายแดน ในด้านสถานการณ์ลักลอบนำเข้า ขั้นตอนการตรวจสอบ วิธีปฏิบัติเมื่อพบสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ต้องสงสัย ตลอดจนส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลการข่าวระหว่างกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) จำนวน 40 นาย

ทั้งนี้ การจัดโครงการดังกล่าว สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่แหล่งผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำยังคงมีศักยภาพการผลิตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มผู้ผลิตสามารถจัดหาสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด และมีการนำสารเคมีชนิดใหม่มาใช้การผลิตยาเสพติดมากขึ้น โดยสถานการณ์ใน ประเทศไทยพบปัญหาการนำผ่านสารเคมีต้องสงสัยว่าจะถูกนำไปผลิตยาเสพติด โดยปีพ.ศ. 2566 มีการตรวจยึดสารเคมีหลายชนิดทั้งที่ถูกควบคุม และไม่ถูกควบคุม รวมถึงการตรวจยึดคาเฟอีนล็อตใหญ่ในรอบ 20 ปี กว่า 3,000 กิโลกรัม ซึ่งการข่าวเชื่อว่า เตรียมลำเลียงเข้าแหล่งผลิตเพื่อผลิตยาบ้า

ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567 จึงมีมติให้เผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีองค์ความรู้สามารถสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนำไปสู่การลดทอนศักยภาพการผลิตยาเสพติดของกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนลงได้.