16 ตุลาคม 67 นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ขณะนี้กำลังสำรวจพื้นที่ทำการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อดำเนินการช่วยเหลือจ่ายเงินเยียวยาแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติเป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม และตรวจสอบได้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะได้ให้คำแนะนำเกษตรกร ทั้งการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่
โฆษกกระทรวงเกษตรฯ ยังแจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เฝ้าระวังแมลงดำหนามข้าว ที่อาจเข้าทำลายนาข้าวจนได้รับความเสียหาย แม้ว่าขณะนี้หลายพื้นที่การเกษตรกำลังเผชิญกับผลกระทบจากอุทกภัย แต่ยังคงมีบางพื้นที่ไม่ได้อยู่ในเขตประสบภัยพิบัติ เนื่องจากประเทศไทยเคยเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของแมลงดำหนามข้าวในปี 2565 จึงได้เฝ้าระวังและย้ำเตือนให้เกษตรกรติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะนี้เป็นระยะใกล้เก็บเกี่ยวข้าวตามฤดูกาล “ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ” ซึ่งเป็นช่วงท้ายของการปลูกข้าวนาปี
ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตร เริ่มสำรวจพบแมลงดำหนามข้าวแล้ว แต่ยังไม่รุนแรง ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดไม่ให้เกิดการระบาดรุนแรง ลักษณะการทำลาย แมลงดำหนามข้าว เป็นด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ตัวหนอนมีลักษณะลำตัวแบนสีขาว ส่วนตัวเต็มวัยมีสีดำ ลำตัวยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร เพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวได้ประมาณ 50 ฟอง โดยตัวเต็มวัยจะกัดกินและแทะผิวใบข้าวด้านบน ทำให้เป็นรอยขูดเป็นทางสีขาวยาวขนานกับเส้นกลางใบ ส่วนตัวหนอนจะชอนใบข้าวเห็นเป็นรอยแผ่นสีขุ่นมัวขนานกับเส้นใบ นาข้าวที่ถูกทำลายรุนแรง ใบข้าวจะแห้งและกลายเป็นสีน้ำตาลเหมือนถูกไฟไหม้
การป้องกันกำจัด นอกจากจะต้องหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอแล้ว ควรกำจัดวัชพืชรอบแปลงนา ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป เมื่อเริ่มพบแมลงดำหนามข้าว พ่นเชื้อราเมตตาไรเซียม อัตรา 250 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นในช่วงที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูง และพ่นให้เชื้อราสัมผัสกับตัวแมลงมากที่สุด โดยพ่นทุก 3 – 7 วัน หากมีการระบาดรุนแรง ให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง อัตราการใช้ตามคำแนะนำในฉลาก โดยใช้สารเคมีกลุ่ม 2B ได้แก่ ฟิโพรนิล หรือสารเคมีกลุ่ม 4A เช่น ไทอะมีทอกแชม อิมิดาโคลพริด โคลไทอะนิดิน เป็นต้น
สมนึก บุญศรี รายงาน