15 ตุลาคม 2567 ช่วงบ่ายวันนี้ ได้มีกลุ่มพลังมวลชนประมาณ 200 คน โดยการนำของ นายแวดล้อม นาโสก ประธานกลุ่มจิตอาสา“รักษ์นาโสก ร่วมใจพัฒนา” นส.ไอรดา ศาลารักษ์ เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ณ ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร โดยมี น.ส.ควีนน์ ชาซิโย ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมุกดาหาร มารับหนังสือกับตัวแทนชาวบ้าน ในการมาครั้งนี้เพื่อแสดงความประสงค์ในการสนับสนุนโครงการกังหันลม มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 200 คน พร้อมป้ายเขียนข้อความว่า ภูไทนาโสก เรารักกัน คนนอกห้ามแทรกแซง กลุ่มรักนาโสกร่วมใจพัฒนา ขอแสดงจุดยืน สนับสนุนโครงการกังหันลม ซึ่งกลุ่มจิตอาสา “รักษ์นาโสก ร่วมใจพัฒนา” ที่ได้จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่บ้านนาโสก ทั้ง 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1, 3, 13, 14 ตำบลนาโสก อำเภอเมืองมุกดาหาร โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และมีเป้าหมายสำคัญในการเป็นตัวแทนชุมชนนาโสกในการประสานงานและสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่บ้านนาโสก ทั้ง 4 หมู่บ้าน ตลอดจนการสืบสานและส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมถิ่นภูไท อันดีงาม ซึ่งมีคุณค่าและมีอัตลักษณ์ของชุมชนชาวบ้านนาโสก
นายแวดล้อม นาโสก ประธานกลุ่มจิตอาสา ฯ กล่าวว่า จากทางชุมชนได้รับทราบว่า บริษัท พีแอนด์พี วินด์ เอ็นเนอจี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตในการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงบังอี่ แปลงที่หนึ่ง ในพื้นที่บ้านนาโสก ต.นาโสก อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร เพื่อดำเนินการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม (โครงการกังหันลม) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด จะมาก่อสร้างในพื้นที่ตำบลนาโสก ชึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ภายหลังได้มีชาวบ้านบางกลุ่มได้ออกมาแสดงเจตนาคัดค้านโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ในการนี้ กลุ่ม “รักษ์นาโสก ร่วมใจพัฒนา” ซึ่งส่วนมากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ดำเนินโครงการดังกล่าว จึงได้จัดประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมโรงเรียนชุมชนนาโสก และได้มีความเห็นว่า ในเมื่อชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเห็นชอบตรงกันว่า “โครงการกังหันลม” เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่ชาวบ้านนาโสกไม่ควรปล่อยให้เสียโอกาสดีๆ เช่นนี้ ได้สูญเสียไป ดังนั้นพวกเราจึงต้องออกมาแสดงจุดยืนในการการสนับสนุนโครงการดังกล่าว ด้วยเช่นกัน ตามเหตุผล ดังนี้
นับแต่เกิดมาตั้งแต่เล็กจนโต บางท่านอายุ 60-70 ปีแล้ว ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพชุมชนเลย ถึงอาจจะมีบ้างมีก็เพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งสภาพถนน สภาพบ้านเรือน และการทำมาหากิน ยังคงเป็นแบบตามคือตามมีตามเกิด ดังนั้นเมื่อรับทราบว่าจะมีโครงการใหญ่ ๆ อย่าง”โครงการกังหันลม”เข้ามาอยู่ในพื้นที่ชุมชน ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงรู้สึก ตื่นเต้นดีใจ และมีความหวัง ว่าชุมชนเรากำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ การพัฒนาถนนหนทางเพื่อใช้ในการคมนาคมและขนส่งพืชผลทางการเกษตร ซึ่งในปัจจุบันสภาพถนนมีความทรุดโทรมค่อนข้างมาก เดินทางไม่สะดวก จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ชุมชนเราเดือดร้อน ในฤดูฝนถนนก็ขาด ในหน้าแล้งก็เกิดไหม้ไฟป่าทุกปี ลำบากในการขนย้ายอุปกรณ์เพื่อเข้าไปดับไฟ หากจะต้องรอเพียงความช่วยเหลือจากภาครัฐฯ ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกนานพอควร รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสที่จะให้ลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นไกลบ้าน ได้มีโอกาสกลับมาทำงานที่ใกล้บ้านเกิด อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนา และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้มีตัวแทนของบริษัทฯ ออกมาพบปะพูดคุยและอธิบายทำความเข้าใจ รายละเอียดโครงการกับชุมชน และเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในเกือบทุกกิจกรรมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้พาไปศึกษาดูงานในสถานที่จริงและได้มีโอกาสสอบถามถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชน รวมถึงผลได้ ผลเสีย และผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับกับชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น ในฐานะพวกเขาได้เคยมีประสบการณ์จริงมาก่อน จึงทำให้ยิ่งเกิดความมั่นใจในโครงการฯ มากขึ้น
ภายหลังได้มีชาวบ้านบางกลุ่ม ออกมาคัดค้านโครงการฯ โดยให้เหตุผลว่า พื้นที่ของโครงการฯ ได้ทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน, การได้รับอนุญาตของบริษัทฯ ไม่ถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนกฎหมาย อีกทั้งยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในข้อกังวลตามที่กล่าวอ้างทางบริษัทฯ ได้ทำการแก้ไขปัญหา โดยการเข้ามาแสดงหลักฐานเพื่ออธิบาย พูดคุย เจรจา หลายครั้ง พร้อมทั้งมีการชดเชยเยียวยา ในส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่ยอมรับและพึ่งพอใจ อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ที่อยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตร รอบโครงการฯ พร้อมทั้งได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมีการนำเสนอข้อมูลแก่ชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น หากแต่ก็ยังมีชาวบ้านบางกลุ่มก็ยังคงไม่พอใจและมีความพยายามที่จะนำบุคคลภายนอกชุมชน ที่ไม่มีส่วนได้ ส่วนเสีย เข้ามาแทรกแซง ปลุกปั่น และให้ข้อมูลอันก่อให้เกิดความขัดแย้งพร้อมทั้งมีความพยามจะยกระดับปัญหาให้บานปลายขึ้นเรื่อยๆ
ตามธรรมเนียมประเพณีวิถีปฏิบัติของชุมชนชาวบ้านนาโสกแต่ดั้งเดิม มีนิสัยรักความสงบ หากเกิดปัญหาขึ้นในชุมชน แนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความขัดแย้งภายในชุมชุนพวกเราคือ การให้คนในชุมชนจะทำการขอมติเสียงข้างมาก และเราทุกคนจะยอมรับในมตินั้น โดยไม่มีบุคคลภายนอกพื้นที่มาเกี่ยวข้อง ดังนั้นเราขอให้ดำเนินการตรวจสอบบุคคลภายนอกพื้นที่ ที่อาจจะเข้ามาสร้างความแตกแยกวุ่นวายให้กับชุมชนของเรา เพราะโดยพื้นฐานนิสัยคนภูไท พวกเราจะรักความสงบ พี่น้องเราจะรักและให้อภัยกันเสมอ มีอะไรค่อยพูดค่อยจากัน และหาทางออกร่วมกันภายในชุมชน ในการมาแสดงจุดยืนครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นการออกมาเพื่อแสดงถึงพลังและเจตนารมณ์ของชาวบ้านนาโสกอย่างแท้จริง
ในฐานะตัวแทนของชุมชนบ้านนาโสก ซึ่งถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบและมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง จึงไม่อาจที่จะนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป เราจึงต้องออกมาเพื่อขอปกป้องสิทธิและโอกาสของชุมชนฯ ที่อาจจะสูญเสียไป เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า “โครงการกังหันลม” เป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ และจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาชุมชนของพวกเราได้อย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่งพวกเราจึงขอส่งหนังสือแสดงความประสงค์เพื่อการสนับสนุนโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม ในพื้นที่ตำบลนาโสก ของบริษัท พีแอนด์พี วินด์ เอ็นเนอจี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด พร้อมแนบรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการฯ ประมาณ 500 คน
ไกรสมุทร นามโพธิ์ไทร รายงาน