20 กันยายน 2567 นายอัสนี จารุชาต ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำและเกณฑ์บริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 5 อ่างเก็บน้ำ ตามแผนการบริหารจัดการลุ่มน้ำยมจังหวัดแพร่ ในช่วงที่จะมี “พายุซูลิก” เข้ามาในพื้นที่จังหวัดแพร่ระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2567 ทางโครงการชลประทานแพร่ จึงได้มีการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 5 แห่งเพื่อรองรับปริมาณย้ำฝนที่จะตกในพื้นที่ของจังหวัดแพร่
การดำเนินการ ที่ อ่างเก็บน้ำแม่สอง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 11 บ้านท่อสมาน ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ มีความจุ 65.80 ล้านลูกบาศก์เมตร พร่องน้ำเหลือ 59 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำแม่คำปอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ 1 บ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ มีความจุ 6.76 ล้านลูกบาศก์เมตร พร่องน้ำเหลือ 5 ลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำแม่ถาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านเวียงเหนือ ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง มีความจุ 30.62 ลูกบาศก์เมตร พร่องน้ำเหลือ 26 ลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำแม่มาน ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งเจริญ ต.หัวฝาย อ.สูงเม่น จ.แพร่ มีความจุ 18.75ล้านลูกบาศก์เมตร พร่องน้ำเหลือ 15.4 ล้านลูกบาศก์เมตร และ อ่างเก็บน้ำแม่สาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 9 บ้านสันกลาง ต.ป่าแดง อ.เมืองแพร่ มีความจุ 10.50 ล้านลูกบาศก์เมตร พร่องน้ำเหลือ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายอัสนี จารุชาติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ กล่าวอีกว่า การพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทำให้เรามีพื้นที่จะรองรับน้ำจาก“พายุซูลิก” ที่จะเข้ามายังพื้นที่ จ.แพร่ ในวันที่ 20-21 กันยายน นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาและการวิเคราะห์น้ำ เหมือนยังไม่ชัดเจนว่าผลของผลกระทบจะเป็นอย่างไรรอให้เข้าฝั่งก่อนตอนเช้าของวันที่ 20 กันยายน เราก็พอจะรู้ แต่ก็มีลมมีฝนด้วย เป็นพายุเพียงแต่ว่าเป็นพายุเบาๆ ไม่เหมือน“พายุยางิ” ที่มันเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น แต่“พายุซูลิก” เป็นพายุโซนร้อน เข้าฝั่งเป็นดีเปรสชั่น แล้วสลายเป็นความกดอากาศ จะไม่ค่อยรุนแรงเท่า“พายุยางิ”
จากการประชุมกับจังหวัดแพร่ ทางส่วนกลางได้ประชุม วิเคราะห์เส้นทาง“พายุซูลิก” ว่าจะไปตรงไหนบ้างมีผลกระทบกับจังหวัดไหนมาแล้วมันจะมีฝนตกหนักตกบริเวณไหน สถานการณ์จะคลี่คลายวันไหน ได้ชี้แจงว่าในเรื่องน้ำท่วมบริบทที่จะเกิด จ.แพร่ไม่น่าจะเป็นอุทกภัย แต่จะเป็นเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม ก็ต้องให้มีการเฝ้าระวัง เมื่อสองสามวันมีฝนตกดินอาจจะชุ่มน้ำจึงขอเตือนให้ประชาชนระวังน้ำป่าไหลหลากน้ำท่วมฉับพลัน และอาจมีน้ำล้นทางระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำบางแห่งได้
นายอัสนี จารุชาติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ กล่าวสรุปตอนท้ายว่า ส่วนครั้งเกิดเหตุการณ์“พายุยางิ” ส่วนใหญ่ฝนตกและก็มีปริมาณน้ำเพิ่มในอ่างเก็บน้ำมากขึ้นแต่ว่า ช่วงนั้นก่อน “พายุยางิ” จะมา เราก็ไม่ประมาทก็มีการพร่องน้ำมาโดยตลอดแล้ว ภาพรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำในความรับผิดชอบของโครงการชลประทานแพร่ ขณะนี้อยู่ที่ 81 เปอร์เซ็นต์ นอกจากอ่างเก็บขนาดเล็กที่อาจจะมีปริมาณน้ำในอ่างเกินไปบ้างเล็กน้อย
ทางโครงการชลประทานแพร่ มีตัวอย่างเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์“พายุยางิ” ทำให้น้ำล้นสันอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำผาคำ ต.ป่าแมต อ.เมือง จ.แพร่ ทำให้มีผลกระทบจึงได้นำเครื่องสูบน้ำไปสูบน้ำหลังเกิดอุทกภัยประมาณ1อาทิตย์สูบน้ำ 15 วันน้ำก็ลดลง แต่พอฝนตกมาเมื่อวานตกรอบเดียววัดได้ 100 มิลลิเมตร ทำให้น้ำล้นสันอ่างเก็บน้ำห้วยผาคำอีกเนื่องจากน้ำป่าไหลลงมาจากขุนเขาเวียงต้า ด้านหนึ่งน้ำป่าก็ไหลไปที่ ต.เวียงต้า อ.ลอง จ.แพร่ อีกด้านน้ำป่าทะลักไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยผาคำ ต.ป่าแมต อ.เมือง จ.แพร่ จนล้นสันอ่าง ถือเป็นกรณีที่เป็นน้ำป่าไหลหลาก และในช่วงวันที่ 20-21 กันยายนนี้ ที่พายุซูลิก พัดเข้าสู่ จ.แพร่ ก็ขอให้ประชาชนระมัดระวังกรณีเกิดขึ้นดังกล่าวนี้ด้วย
ญาณัจฉรา โชติถนอมกืต รายงาน