30 สิงหาคม 2567 ที่ ห้องประชุมเทศบาลตำบลเมืองสรวง นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่อำเภอเมืองสรวง เพื่อพบปะแกนนำชุมชนล้อมรักษ์ ป้องกันยาเสพติด โดยอำเภอเมืองสรวง ร่วมกับเทศบาลตําบลเมืองสรวง ดําเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจําปี 2567 โดยกําหนดจัดกิจกรรมอบรมแกนนําชุมชน”สร้างชุมชนล้อมรักษ์ CBTx ป้องกันยาเสพติด” เพื่อเตรียมความพร้อมของแกนนําชุมชน ในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องรวมถึงรับการส่งต่อผู้ปวยกลับสู่ครอบครัว ชุมชน เพื่อป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ และเสริมสร้างพลังของชุมชนเพื่อใช้เป็นกลไลในการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด โดยชุมชนมีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิด “ชุมชนเป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง”
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า จังหวัดร้อยเอ็ด เป็น 1 ใน 25 จังหวัด เป้าหมายในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดร้อยเอ็ด (ศอ.ปส.จ.รอ.) จึงได้ดำเนินการประชุมเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และยั่งยืน ช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด ให้ได้รับการบำบัดรักษา และอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน อย่างสงบสุข จังหวัดร้อยเอ็ดจึงได้ดําเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดและการพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยได้กําหนดพื้นที่ต้นแบบ คือ “อําเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด” หรือที่เรียกว่า “ธวัชบุรีโมเดล” ซึ่งได้ดําเนินการปูพรมค้นหาผู้เสพ ผู้ค้า ยาเสพติดในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน และได้จัดทําระบบในการติดตามดูแล ช่วยเหลือ และเฝ้าระวัง หลังจากที่ผู้ผ่านการบําบัดรักษากลับคืนสู่ชุมชนโดยใช้กลยุทธ์ “ปลุก เปลี่ยน ปราบ” เป็นแนวทางแก้ไขในการปัญหา มีเป้าหมายเพื่อลดความรุนแรงของยาเสพติดภายใน 1 ปี “ปลุก” คือ การปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหายาเสพติดร่วมกับภาครัฐ ป้องกัน ตั้งแต่ระดับเยาวชน ให้ผ่านหลักสูตรในสถาบันการศึกษา “เปลี่ยน” คือ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ทําการ X-ray ชุมชนแล้วนําผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบ่าบัดรักษา ฟื้นฟุสมรรถภาพ และฝึกอาชีพ “ปราบ” คือ การปราบปรามนักค้ายาเสพติด สกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนําเข้ายาเสพติดและ ใช้มาตรการยึด อายัดทรัพย์สิน เพื่อตัดวงจรขบวนการค้ายาเสพติด
โดยได้มีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการตำบลในพื้นที่ขึ้น เพื่อเป็นกลไกที่สําคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยทําการ Re X-ray ผู้เสพ ผู้ค้า ยาเสพติดในทุกๆหมู่บ้าน/ชุมชน นอกจากนี้ ชุดปฏิบัติการประจําตําบลยังมีภารกิจสําคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในพื้นที่ผ่านการจัดเวทีประชาคม เพื่อรับฟังปัญหา ความต้องการของประชาชนในพื้นที่แต่ละหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อนํามาจัดทําแผนงาน/โครงการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนสามารถดํารงชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยปัจจุบัน ได้มีการขยายผลไปยังทุกอำเภอของจังหวัด เพื่อให้จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดที่ปลอดจากยาเสพติดอย่างยั่งยืนต่อไป
สมนึก บุญศรี รายงาน