อลังการงานวิจิตรแพรวา ราชินีแห่งไหม 2567 จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการโอทอป กลุ่มอาชีพ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนจัดขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา และผลิตภัณฑ์โอทอป พร้อมจัดเต็มรวมสุดยอดผ้าพื้นเมือง ผ้าไหมแพรวา และสินค้าโอทอปมากกว่า 100 แห่งจาก 20 จังหวัดภาคอีสาน คาดเงินสะพัดมากกว่า 20 ล้านบาท
20 สิงหาคม 2567 ที่ บริเวณสนามหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานวิจิตรแพรวา ราชินีแห่งไหม 2567 ซึ่ง จ.กาฬสินธุ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับเครือข่าย และทุกภาคส่วนจัดขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา และผลิตภัณฑ์โอทอป โดยมี นายนายธวัชชัย รอดงาม นายธนภัทร ณ ระนอง นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นางนวลจันทร์ ศรีมงคล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายพงษ์ศักดิ์ คณะมะ พัฒนาการ จ.มหาสารคาม นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกอบจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการเหล่ากาชาด ผู้บริหารสถานศึกษา ภาคเอกชน หอการค้า สมาคมท่องเที่ยว เครือข่ายโอทอป องค์กรสตรี และประชาชนเข้าร่วมพิธีเปิดจำนวนมาก
ทั้งนี้กิจกรรมพิธีเปิดมีการแสดงชุดราชินีแห่งไหม การโชว์สาธิตการย้อมผ้าไหม และแฟชั่นโชว์จากนางแบบกิตติมศักดิ์ 40 คน ซึ่งสวมเสื้อชุดผ้าไหมแพรวาที่ผ่านมาออกแบบตัดเป็นชุดอย่างวิจิตรบรรจงที่สวยสดงดงาม และอลังการ ท่ามกลางความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่ร่วมงาน
นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ผ้าไหมแพรวา จ.กาฬสินธุ์ ถือเป็นเป็นมรดกหัตถกรรมดั้งเดิมแต่ครั้งบรรพบุรุษที่ชาวผู้ไทยถ่ายทอดสืบสานมายาวนานกว่า 300 ปี และจากพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทอดพระเนตรเห็นความงาม และคุณค่าแห่งศิลปะของลวดลายผ้าไหม ที่ชาวผู้ไทยที่ได้แต่งกายมารอรับเสด็จ ครั้งเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาว อำเภอคำม่วง เมื่อปี 2520 โดยได้โปรดฯให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งทรงพระราชดำริ ให้นำผ้าทอไปตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์อย่างงดงาม วิจิตร ส่งผลให้ผ้าแพรวามีชื่อเสียงที่เลื่องลือถึงความงดงาม จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งผ้าไหม”
นายอุทัย กล่าวต่อว่า เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ทำให้ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์มีชื่อเสียง จ.กาฬสินธุ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วนงาน “วิจิตรแพรวา ราชินีแห่งไหม 2567”ขึ้น โดยได้รับอนุมัติงบประมาณในแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2567 ของ จ.กาฬสินธุ์ โดยนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมรองผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 ท่าน ให้ดำเนินการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ในการส่งเสริมและจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพ เพื่อส่งเสริมผ้าไหมแพรวาที่บ้านโพน ศูนย์ศิลปาชีพอำเภอเขาวง และเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่สินค้า และผลิตภัณฑ์โอทอปก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ
นายอุทัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน จ.กาฬสินธุ์ มีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์โอทอปจำนวน 3,890 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ 5,118 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ในปี 2566 ที่ผ่านมา มียอดจำหน่ายสินค้าโอทอปอยู่ที่ 6,950,353,390 บาท โดยร้อยละ 43 หรือ 3,340,000,960 บาท มาจากยอดจำหน่ายผ้าไหม
สำหรับงาน “วิจิตรแพรวา ราชินีแห่งไหม ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 สิงหาคม 2567 โดยจุดเด่นของงานเป็นการรวบรวมผ้าไหมพรวา สินค้าอัตลักษณ์ของ จ.กาฬสินธุ์ และสุดยอดผ้าไหมจาก 20 จังหวัดทั่วภาคอีสาน มาจัดแสดงและจำหน่ายในงาน เพื่อเป็นการปักมุดของ จ.กาฬสินธุ์ เป็นแหล่งทอผ้าไหมแพรวาที่ดีที่สุดในโลก
นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน 100 คูหา การจัดนิทรรศการการทอผ้าไหม นิทรรศการการย้อมสีธรรมชาติ การจัดแสดงของศิลปิน การบรรยายและสาธิตกิจกรรมการเรียนรู้กระบวนการทอผ้าไหม และการประกวดมากมายภายในงาน เช่น การประกวดวิจิตรแพรวาผ้า 10 ลาย การประกวด วิจิตรศิลป์ซิ่นแพรวา การประกวดธิดาแพรวา 2567 คาดว่าจะมีเงินสะพัดในงานมากกว่า 20 ล้านบาท
ด้านนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จัดงานมหกรรมวิจิตรแพรวาราชินีไหม ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการส่งเสริมสนับสนุนผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเพิ่มช่องทางการตลาดแก่ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน เพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน และยังเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงคุณค่าผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่มีความปราณีตงดงาม จนถูกเรียกขานว่า “ราชินีไหม” อันเป็นอัตลักษณ์ของผืนผ้าชาวกาฬสินธุ์ ซึ่งในงานยังเป็นการรวบรวมสินค้าของดีของเด่นจากภายในจังหวัดจากทั้ง 18 อำเภอ และต่างจังหวัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เลือก “ชิม ช้อป ใช้” เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตผู้ประกอบการอีกด้วย