12 สิงหาคม 2567 ที่สันเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์พร้อมด้วย นาย อนุวัติ อุปนันไชย ประมงจังหวัดอุตรดิตถ์,นายวุฒิไกร สร่างนิทร ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ประมง และประชาชนอาศัยโดยล้อมเขื่อนสิริกิติ์ พร้อมใจจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 5 ชนิด ได้แก่ ปลากาดำ ปลาตะโกก ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนทอง และปลายี่สกเทศ ซึ่งเป็นปลากินพืช จำนวน 200,000 ตัว ลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ ความจุอ่างเก็บน้ำ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 รวมทั้ง เป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้แพร่ขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณมากขึ้น และเป็นแหล่งอาหารของพี่น้องประชาชน
เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2511 ปิดกั้นแม่น้ำน่าน ตำบลผา เลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขนานนามว่า “เขื่อนสิริกิติ์” ปี พ.ศ.2514 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์และโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2520
นาคา คะเลิศรัมย์ รายงาน