16 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลเมืองสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) และเชื้อลีจิโอเนลลา (Legionelta spp.) ในน้ำอุปโภคบริโภคของโรงแรมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่โรงแรมที่ผ่านการประเมิน ตามแนวทางที่กำหนดของโครงการ จำนวน 33 แห่ง โดยมีนายแพทย์บัสลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นางสาวจิราภรณ์ เพชรรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ผู้บริหารและวิทยากร จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเกาะสมุย และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานสุขาภิบาลน้ำอุปโภคบริโภค จากโรงแรมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย และเจ้าหน้าที่จากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม จำนวน 90 คน
นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดทำโครงการเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส และเชื้อลี่จิโอเนลลาในน้ำอุปโภคบริโภคที่ใช้ในโรงแรมพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี จัดทำโครงการเฝ้าระวังฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส สาเหตุของโรคทางเดินอาหารอักเสบเฉียบพลันและเชื้อลีจิโอเนลลา สาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ในน้ำอุปโภคบริโภคของโรงแรมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของทะเลไทยในภาคใต้ฝั่งตะวันออกโดยดำเนินงานร่วมกับ หน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองท้องถิ่น สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ผู้ประกอบการโรงแรม โดยดำเนินงานต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เนื่องจากเกาะสมุยเป็นพื้นที่สำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจการท่องเที่ยวสำคัญของประเทศทำรายได้เข้าพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งในปี 2567 มีโรงแรมเข้าร่วมโครงการ 33 แห่ง และได้มีการดำเนินการตามแนวทางมาตรฐานการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำอุปโภค บริโภคของโรงแรม ตามแนวทางที่กำหนด ซึ่ง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มอบประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพมาตรฐานยืนยัน สร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้ง ยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการโรงแรมที่ผ่านเกณฑ์ด้วย
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โครงการนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนความเมดิคัลฮับ (Medical Hub)” หรือ “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน ในปีงบประมาณ 2568 จะมีการขยายฐานของผู้ประกอบการให้เข้าสู่ระบบให้มากกว่านี้ เป็น10 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เกาะสมุย ภูเก็ต บางส่วนของกระบี่ กรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา ซึ่งตรงนี้จะเป็นการทำงานเพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อเสริมรายได้ให้ประเทศและสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศไทย ว่าจะปลอดภัยปลอดโรคลีจิโอเนลลา โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่มีข้อกำหนด อยากให้เข้าสู่ระบบการทำงานร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพราะว่าโรงแรมขนาดใหญ่ 4-5 ดาวมีความปลอดภัยมีการดูแลระบบน้ำอุปโภคบริโภคที่ดีแล้ว ดังนั้น ต้องการที่จะให้โรงแรมขนาดเล็กได้เข้าสู่ระบบด้วยเมื่อผ่านมาตรฐานจะได้รับใบรับรองของรัฐบาลที่สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมการขายในการเป็นโรงแรมที่ได้รับการรับรองคุณภาพน้ำของโรงแรม ซึ่งจะช่วยเอื้อให้นักท่องเที่ยวพักอย่างสบายใจ และความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจากการท่องเที่ยวก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ
ด้านนาง กฤษณา พรหมเกาะ ประธานที่ปรึกษาชมรมบริหารงานเกาะสมุย กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงแรมในเกาะสมุย ยังไม่มีโรงแรมใดที่มีการปนเปื้อนของเชื้อทั้งสองชนิดนี้ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจและปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวจึงได้มีการรณรงค์ต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยโรงแรมในเกาะสมุยปลอดเชื้อโนโรไวรัสและเชื้อลีจิโอเนลลาอย่างแท้จริง.