วิถีชีวิตชาวบ้านอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา ยังคงร่อนแร่ดีบุกด้วยเลียงในลำคลอง เป็นอาชีพเสริมจากรุ่นสู่รุ่น ของแม่บ้านยุคราคายางพาราตกต่ำ ก่อนจะนำไปขายที่ตลาดตะกั่วป่า ในราคากิโลกรัมละ 200-250 บาท สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว
นาง ศริยา จาราสถิตย์ ผู้ใหญ่บ้านหมูที่ 5 บ้านบางมรวน (บาง-มะ-รวน)ได้นำผู้สื่อข่าวดูการวิถีชีวิตของชาวบ้านในการอนุรักษ์อาชีพร่อนแร่ดีบุกในลำคลองบางปูเต (บาง-ปู-เต) หมู่ที่ 5 บ้านบางมรวน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งในอดีตเป็นอาชีพหลักของยุคที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกเฟื่องฟู จนกลายมาเป็นอาชีพเสริมของแม่บ้านในยุคที่ราคายางพาราตกต่ำ โดยการร่อนแร่นั้น ชาวบ้านที่นี้ยังคงใช้ “เลียง” ซึ่งมีลักษณะเป็นภาชนะกลมแบนคล้ายกระทะทำมาจากไม้ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการร่อนแร่เพื่อล้างเศษหินดินทรายที่ปะปนมากับแร่ออก โดยการใช้เลียงตักดินที่มีแร่ดีบุกปะปนอยู่ในลำคลองนำมาร่อนกับน้ำด้วยวิธีการร่อนที่มีการถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ดิน และทรายซึ่งเบากว่าแร่ดีบุกไหลออกจากเลียงลงกลับไปในลำคลอง ก่อนจะเทแร่ที่ร่อนได้เทใส่ในกระเป๋าผ้าที่ผูกไว้ที่เอวคนร่อน จากนั้นก็จะนำไป “ไถ้” หรือแยกแร่ด้วยภาชนะกรองแยกแร่ดีบุกออกมา แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท หรือใช้วิธีการคั่วด้วยไฟ ก่อนจะนำไปขายที่ตลาดตะกั่วป่าในราคากิโลกรัมละ 200-250 บาท
สำหรับการใช้เลียงร่อนแร่ดีบุกนั้นในอดีตจะร่อนแร่ตามลำคลอง และท้ายรางแยกแร่ของเหมืองแร่ดีบุก และเรือขุดแร่ ซึ่งในพื้นที่นี้จะมีสายแร่ดีบุกที่ดี และมีมาก หลายบริษัทจึงเข้ามาทำเหมืองที่นี่ ปัจจุบันเหลือคนที่ร่อนแร่ดีบุกเป็นอาชีพเสริมในอำเภอตะกั่วป่า และอำเภอกะปง ประมาณ 100 คน โดยส่วนใหญ่จะออกมาร่อนแร่ตามลำคลองต่างๆ ในช่วงฤดูฝน