15 พฤษภาคม 2567 ดร.เอกภาพ – ดร.รัชนี พลซื่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดเขต 3 ร่วมพิธีบวงสรวงเจ้าปู่ฮัท พร้อมเปิดการแสดงหมอลำวง บ้านหนองแสงทุ่ง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด การบวงสรวงสังเวย ของบ้านหนองแสงทุ่ง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด วันที่15 พฤษภาคม 2567 ตรงกันวันพระขึ้น 8 ค่ำเดือน6ซึ่งเป็นฤดูฝนเป็นการทำนา เพื่อให้การทำนาราบรื่นได้ผลเป็นอย่างดีจึงได้จัดพิธีบวงสรวงขึ้นในวันนี้เป็นวันพระขึ้น8ค่ำเดือน6เป็นวันฤกษ์งามยามดีก่อนฤดูกาลทำนา
การบวงสรวงสังเวยเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์ใช้ในการบำบวง เซ่นไหว้ และสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่ตนเคารพนับถือ เพื่อช่วยดลบันดาลให้ประสบกับโชคลาภ ความผาสุก และความสำเร็จในกิจการทั้งปวง
ในการบวงสรวงสังเวย จะต้องมีเครื่องสังเวยบูชาเป็นโภชนาหารต่างๆ โดยต้องมีบายศรีเป็นองค์ประกอบหลัก การบวงสรวงจึงเป็นการบอกกล่าวเทวดา อัญเชิญมาร่วมในพิธีและเสวยอาหารในบายศรีและเครื่องสังเวย
ในการบวงสรวงของราษฎรมักใช้บายศรีปากชาม เครื่องบวงสรวงสังเวย ได้แก่ โภชนาหารที่มีพวกเนื้อสัตว์ ที่เรียกว่า เครื่องมัจฉมังสาหาร เช่น หัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ปลา ซึ่งส่วนใหญ่ต้มสุกแล้ว และพวกที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ เรียกว่า เครื่องกระยาบวช เช่น มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำไท ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว เผือกต้ม มันต้ม แกงบวด ถั่ว งา และนมเนย ถ้าเป็นบายศรีในศาลพระภูมิต้องมีไข่ต้มสุกอีก 3 ฟอง การทำพิธีบวงสรวงสังเวยของราษฎร เช่น การบวงสรวงสังเวยตั้งหรือถอนศาลพระภูมิเจ้าที่ ใช้พราหมณ์หรือผู้รู้เป็นผู้ประกอบพิธี แล้วแต่จะทำในโอกาสใด การทำพิธีนั้น พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี โดยกล่าวคำชุมนุมเทวดาและอ่านคำประกาศบวงสรวง
พิธีกรรมก่อนลงมือปลูกข้าว เป็นการบอกกล่าวผีบรรพบุรุษ ผีประจำหมู่บ้าน ผีประจำชุมชน หรือผีเมือง เพื่อขออนุญาตเริ่มต้นปลูกข้าวในปีนั้นๆ และขอให้บุญบารมีช่วยคุ้มครองให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ รวมถึงขอให้ผู้ปลูกมีสุขภาพดีมีเรี่ยวแรงปลูกข้าวจนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งในแต่ละภูมิภาคจะมีลักษณะพิธีกรรมคล้ายๆ กัน คือ การนำอาหารมาเซ่นสรวงสังเวยผี การนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสวัสดิมงคล รวมถึงการทำบุญกุศลอุทิศให้แก่บรรพบุรุษ
ในกรณีที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลจะต้องประกอบพิธีกรรมขอฝน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เช่น ในภาคอีสานจะมีการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถนซึ่งเป็นผีที่มีอำนาจสูงสุดบนฟ้า ในภาคกลางมีพิธีกรรมแห่นางแมว การบูชาพระคันธราช หรือพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ ซึ่งเป็นพิธีหลวง เป็นต้น
สมนึก บุญศรี รายงาน