9 พฤษภาคม 2567 ที่พลับพลาแรกนาขวัญ พลับพลาสุดท้ายจากสมัยรัชกาลที่ 6 ที่วัดบัวขวัญ ตำบลลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ร.ต.ต.หญิงสายสุนี ไกรนรา นายอำเภอลาดหลุมแก้ว พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนจิตอาสา เยี่ยมชมพลับพลาแรกนาขวัญ พลับพลาสุดท้ายจากสมัยรัชกาลที่ 6 ที่วัดบัวขวัญ เป็นพลับพลาที่สร้างด้วยไม้สักและทาด้วยสีแดง จึงเรียกกันว่า ศาลาแดง
โดยนายอำเภอลาดหลุมแก้ว พร้อม นายสุริยะ ภิรมย์พร้อม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดหลุมแก้ว ได้นำประชาชนจิตอาสาปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบ พลับพลาแรกนาขวัญ หรือศาลาแดง เพื่อรองรับประชาชนที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมพลับพลาแรกนาขวัญ พลับพลาสุดท้ายจากสมัยรัชกาลที่ 6 เนื่องจากใกล้วันเกษตรกร และวันแรกนาขวัญ ซึ่งชาวอำเภอลาดหลุมแก้วส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และมีแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตร รวมถึงศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศษฐกิจพอเพียง และยังมีสถานปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า สำหรับตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 15.20 เมตร ลักษณะเป็นอาคารครึ่งไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง มีผนังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 6×15.20 เมตร หลังคาทรงจั่วซ้อนลด 2 ชั้น มุงด้วยแป้นเกร็ดกระเบื้องไม้ ออกปีกนกคลุมโดยรอบ ฝ้าเพดานเป็นกระดานแผ่นเรียบตีทับแนว พื้นปูด้วยไม้ เรือนประธานมีขนาด 4 ห้อง ยกพื้นสูงและแบ่งกั้น 1 ห้อง รอบ ๆ เรือนประธานทำเป็นพื้นระเบียงทั้ง 4 ด้าน พร้อมราวระเบียงกั้นกันตก มีบันไดขึ้น 2 ข้างที่ด้านสกัด อาคารส่วนใหญ่ทาสีน้ำมันสีแดง เดิมเป็นพลับพลาที่ประทับของรัชกาลที่ 6 ในการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ทุ่งพญาไท กรุงเทพมหานคร แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานวันเดือนปีทีแน่ชัด ในการก่อสร้าง แต่จากภาพถ่าย ทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า พลับพลาที่วัดบัวขวัญ นี้มีสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับสถาปัตยกรรมในสมัยดังกล่าว คือเป็นพลับพลาที่มีความเรียบง่าย เป็นอาคารชั้นเดียวทำด้วยไม้ทั้งหลัง ก่อนจะยกเลิกเป็นการชั่วคราวในสมัยรัชกาลที่ 7 ต่อมา พ.อ.พระอุดม โยธาธิยุต (สด รัตนาวดี) ได้ขอพระราชทานหรือประมูลจากกรมพระราชพิธี นำพลับพลาแรกนาขวัญที่ประทับจากทุ่งพญาไท มาถวายที่วัดบัวขวัญ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี
ด้าน ร.ต.ต.หญิงสายสุนี ไกรนรา นายอำเภอลาดหลุมแก้ว กล่าวว่า ทางอำเภอลาดหลุมแก้วได้คงสภาพเดิมของพลับพลาแรกนาขวัญไว้ทุกประการ และเคยให้เป็นอาคารโรงเรียนสอนปริยัติธรรมเป็นที่เรียนของพระสงฆ์และสามเณร แต่ปัจจุบันพลับพลาหลังนี้เป็นมรดกทางศีลปวัฒนธรรมที่มีความผูกผันกับประชาชนชาวตำบลลาดหลุมแก้ว และเป็นโบราณสถานที่ชาวบ้านและชาวอำเภอลาดหลุมแก้วภาคภูมิใจ รวมถึงได้ขึ้นทะเบียนกรมศิลปากรเป็นที่เรียบร้อย จึงอยากชวนประชาชนทั่วไปเข้ามาเที่ยวชมพลับพลาหลังสุดท้ายจากสมัยรัชกาลที่ 6 ที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์.
สญชัย คล้ายแก้ว รายงาน