13 เมษายน 2567 ที่วัดสุราษฎร์รังสรรค์ หรือวันดอนมะกรูด ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี นายศรัณย์ เกตุทอง นายอำเภอสามโคก ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรมสืบสานประเพณี วันสงกรานต์ ประจำปี 2567 โดยมี นายยอด ภู่เฉลิมตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองควาย กล่าวรายงานการจัดโครงการฯ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ สืบสานประเพณีไทย พร้อมผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่ บ้านแพทย์ประจำตำบลสารวัตรกำนัน ข้าราชการ ประธานชมรมผู้สูงอายุ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลคลองควาย อุปนายกสมาคมไทยรามัญ ประธานสมาพันธ์ไทยรามัญ ประธานสมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญ จังหวัดปทุมธานี ผู้อำนวยการโรงเรียน ทุกแห่ง ผู้ประกอบการในเขตตำบลคลองควาย พนักงาน และพี่น้องประชาชนผู้สูงอายุ และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมพิธีกันอย่างคึกคัก
บรรยากาศภายในงานสืบสานประเพณี วันสงกรานต์ ประจำปี 2567 มีถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ พิธีสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ พร้อมมีการจับฉลากรางวัลมอบให้กับผู้สูงอายุที่มาร่วมงานกิจกรรม มีรางวัลหลากหลายชนิด ประกอบไปด้วย ข้าวสาร พัดลมและสิ่งของอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมการแสดงแสดงจากเจ้าหน้าที่ อบต.คลองควาย แต่งกายเป็นดำดงที่กำลังเป็นกระแสเอาใจผู้สูงอายุที่ชื่นชอบเป็นอย่างมาก และมีปาร์ตี้โฟมให้เด็ก ๆ ได้เล่น ทำให้บรรยากาศภายในงานเย็นชุ่มฉ่ำ เป็นไปด้วยความสนุกสนาน แบบเป็นกันเอง
ด้าน นายยอด ภู่เฉลิมตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองควาย กล่าวว่า เทศกาลวันสงกรานต์ ถือว่าเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทรและเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่นและการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะ ของความเป็นไทยอย่างชัดเจน โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมความสัมพันธ์ไมตรี องค์การบริหารส่วนตำบลของควายได้ตำหนักถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดโครงการสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ขึ้น
ส่วน นายศรัณย์ เกตุทอง นายอำเภอสามโคก กล่าวว่า กระผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดโครงการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ในวันนี้ ประเพณีสงกรานต์ถือว่าเป็นวันปีใหม่ของไทย ซึ่งถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงามแสดงออกซึ่งความรักความเคารพ และความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณ สร้างจิตสำนึกให้เด็ก และเยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าความเป็นไทย คุณค่าของวัฒนธรรมอันดีงาม สมควรที่คนไทยจะได้รับรู้เข้าใจมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและประเพณีของไทยและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม จะดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยคนรุ่นหลังจะต้องศึกษาให้เข้าใจ ถึงคุณค่า หมายความและวิธีปฏิบัติพร้อมทั้งต้องรู้จักพัฒนา ปรับปรุงให้ประเพณีงดงามเหมาะสมตามการสมัย มีการสืบทอดและเผยแพร่จนสามารถซึมซับวิถีไทยตั้งแต่ความเป็นมาในอดีต ปัจจุบันและแนวโน้มความเป็นไปในอนาคต.
สญชัย คล้ายแก้วรายงาน