19 มีนาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ตรวจติดตามโครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ศูนย์เรียนรู้ เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ภายหลังจากร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดพะเยา โดยมีนายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงาน ประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดที่มีผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ กินดี อยู่ดี มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง มั่งคั้ง และยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การแปรรูปสินค้า ผลิตภัณฑ์ OTOP และการตลาด ซึ่ง “โครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ศูนย์เรียนรู้ เพื่อการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จังหวัดอุตรดิตถ์จะพัฒนาต่อยอดให้เกิดการพัฒนาทักษะครัวเรือนให้มีอาชีพสร้างรายได้อย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการเรียนรู้ของศูนย์เรียนรู้ต้นแบบในแปลงโคก หนอง นา โมเดล ที่มีอยู่ในพื้นที่อำเภอทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการฝึกอาชีพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ขยายผลสู่ชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง
โดยนายพงษ์ศิริวัฒน์ ฐิตตะปุญโญ เจ้าของโคก หนอง นา กล้วยงาช้างจักรพรรดิ ต.นายาง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ได้นำเสนอโครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ศูนย์เรียนรู้เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ให้กับรองนายกรัฐมนตรีได้ทราบ โดย ที่มาและความสำคัญ ซึ่งได้จัดกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสังคม ประยุกต์สู่การปฏิบัติรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล มีจำนวนทั้งสิ้น 344 แปลง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ ในจ.อุตรดิตถ์ ในครั้งนี้ ภายหลังจากการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.พะเยา ได้มีการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ซึ่งต้องอาศัยส่วนราชการในท้องที่นำปัญหาของประชาชนมาพิจารณาเพื่อจัดสรร เช่น ปัญหาความยากจน สุขภาพ การศึกษา การแก้ไขปัญหาภัยแล้งลุ่มแม่น้ำยม โดยการผันน้ำยมจากจังหวัดสุโขทัยมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย ในส่วนของผลักดักโครงการนำร่อง โคแสนล้านในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มีการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว ซึ่งได้ประชุมไปเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดดำเนินการคัดเลือกครัวเรือนที่สนใจ ทดลองก่อน 1-2 พันครัวเรือน ทั้งนี้ได้มีแนวคิดริเริ่มโครงการเสริม การอบรมสัตวบาลในพื้นที่ เพื่อจะได้ดูแลโคในพื้นที่อย่างทั่วถึง
นาคา คะเลิศรัมย์ รายงาน