กสศ.ร่วม ธนาคารโลก ถอดบทเรียนการพัฒนาทักษะทุนชีวิตต่างประเทศ และตัวอย่างการขับเคลื่อนระดับท้องถิ่น 3 จังหวัดของไทย
กสศ. ร่วมกับ ธนาคารโลก และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน กรณีศึกษาความร่วมมือการพัฒนาทักษะทุนชีวิตในสังคมแห่งการเรียนรู้จากต่างประเทศ และการพัฒนาทักษะทุนชีวิตไทย หลังพบผลสำรวจแรงงานไทยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีทักษะทุนชีวิตด้านการอ่าน ด้านดิจิทัล ด้านอารมณ์และสังคมไม่ถึงเกณฑ์
วันที่ 22 ก.พ. 2567 ที่ห้องประชุม เวิลด์ บอลรูม บี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเวทีการขับเคลื่อนทักษะทุนชีวิตในระดับท้องถิ่นและจังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยน กรณีศึกษาความร่วมมือการพัฒนาทักษะทุนชีวิตในสังคมแห่งการเรียนรู้จากเมืองโบโกต้า ประเทศโคลัมเบีย และนำเสนอการขับเคลื่อนพัฒนาทักษะทุนชีวิตจาก 3 จังหวัด คือ ระยอง พะเยา และปัตตานี ที่มีบริบทพื้นที่ต่างกัน
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โครงการสำรวจทักษะและความพร้อมของเยาวชนและแรงงานที่เกิดขึ้นนี้ เป็นความร่วมมือของ ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ กสศ. ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันมาเป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นการศึกษาการพัฒนาทักษะทุนชีวิต 3 ด้าน คือ การอ่านออกเขียนได้ ทักษะทางดิจิทัล และทักษะอารมณ์และสังคม ในช่วงอายุ 15-64 ปี 7,300 คนทั่วประเทศ เป็นการศึกษาของไทยครั้งแรกที่มีความเป็นสากล และที่ครอบคลุมในการอธิบายประชากรทั้งหมดของประเทศ หรือ เทียบเคียงกับ PISA ที่ศึกษาประชากรนักเรียน สำหรับผลการศึกษา พบว่า เยาวชนและประชากรวัยแรงงาน “ขาดทักษะทุนชีวิตที่ต่ำกว่าเกณฑ์” ทำให้เราเกิดความท้าทายในการทำงานในช่วงก้าวสู่ศตวรรษที่ 21
“กลุ่มประชากรที่ทำการสำรวจและพบอุปสรรคอย่างมาก คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่อาจจะไม่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา กระจุกตัวในชนบท และอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ วันนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากงานวิจัย ที่จะนำไปสู่การเตรียมคน เตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะ ในพื้นที่ระดับท้องถิ่น” นายพัฒนะพงษ์
นางมาเรีย วิคตอเรีย แองกูโล (Ms. Maria Victoria Angulo) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการการศึกษาเมืองโบโกต้า ประเทศโคลัมเบีย นำเสนอบทเรียนทางการศึกษาโบโกต้า สู่การปรับใช้ในประเทศไทย ว่าหัวใจสำคัญของโบโกต้าไม่เพียงให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการศึกษา แต่ยังให้ความสำคัญกับ “ความสุข” และ “ท้องถิ่น” เพื่อที่จะทำให้การศึกษาช่วยพัฒนาคนและเมือง โดยมีการวางแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี โดยมีการรับฟังเสียงจาก ครู นักเรียน เพื่อนำไปพัฒนากิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ร่วมกัน เช่น ห้องสมุด สวนสาธารณะ เราพยายามทำให้เห็นว่า การศึกษาสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ โดยมีรูปแบบการทำงานสำคัญ เช่น การดูแลเด็กแบบครบวงจร สิ่งแวดล้อมเพื่อการมีความเป็นอยู่ ชีวิตที่ดี โดยสิ่งที่โบโกต้าดำเนินการ ประกอบด้วย เส้นทางการดูแลเด็กปฐมวัยแบบครบวงจร โครงการสิ่งแวดล้อมโรงเรียนเพื่อชีวิตและการอยู่ร่วมกัน มีศูนย์นวัตกรรมครูแห่งแรก มีโปรแกรมร่วมกับธนาคารโลก Emotions for Life “อารมณ์เพื่อชีวิต” การออกแบบโปรแกรมการให้อาหารในโรงเรียนให้เป็นโปรแกรมเพื่อสุขภาพ การปฏิวัติโรงเรียน โดยการสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น มีการจัดการเรียนเสริม เช่น กีฬาและศิลปะ เป็นต้น
“โปรแกรมเหล่านี้มาจากการตัดสินใจร่วมกันในท้องถิ่น และสามารถทำเพื่อส่งต่อเป็นนโยบายในระดับท้องถิ่นได้ โครงการที่เชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อท้องถิ่นไทย คือ การทำเรื่องการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยที่มีคุณภาพ และสร้างการออกแบบในการประเมินการศึกษา มีการอบรมครู และการสร้างโมเดลที่ทำให้เกิดผลเชิงบวกในการศึกษาได้ โดยรัฐบาลระดับชาติจำเป็นต้องดำเนินงานในระดับท้องถิ่น” นางมาเรีย กล่าว
นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยอง เป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เป็นแหล่งงาน ดังนั้นการเตรียมคนเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีความยินดีที่อย่างยิ่งที่ กสศ. และธนาคารโลกมาสนับสนุน และยังสามารถนำความรู้จากต่างประเทศมาให้ปรับใช้สำหรับการพัฒนาลูกหลานที่จะนำไปสู่การทำงานในพื้นที่ในอนาคต สำหรับการพัฒนาคนของ จังหวัดระยอง ทางด้านการศึกษา ย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีก่อน ได้เปลี่ยนที่ดินราชทัณฑ์เดิมมาเป็นโรงเรียน ที่ให้โอกาสนักเรียนที่หลุดจากโรงเรียนดังของจังหวัด และพ่อแม่ผู้ปกครองที่ฐานะยากจน โดยสามาถผ่อนส่งค่าเล่าเรียนได้ มีกองทุน มีมูลนิธิสนับสนุนนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน ทำให้สามารถส่งเด็กเรียนจบสาขาวิชาชีพต่างๆ ได้จำนวนมาก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สร้างคนคุณภาพ รองรับสายงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
“ปัจจุบันพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแหล่งของนักลงทุน ทางจังหวัดได้ทุ่มงบประมาณ 713 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการศึกษา โดยสร้างสถานศึกษา 5 แห่งเป็นโรงเรียนนวัตกรรมทางการศึกษา ที่ดึงเครือข่ายเอกชน ภาคประชาชนมาสนับสนุน โดยมียุทธศาสตร์ คือ การสร้างการศึกษา ที่มีการเรียนในเรื่องการเป็นพลเมืองดี ทักษะภาษาไทย อังกฤษ จีน และภาษาคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการสนับสนุนทักษะด้านกีฬา ดนตรี พร้อมเปิดพื้นที่การแสดงออก รวมไปถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพด้วย หัวใจสำคัญคือปัจจัยความสำเร็จ คือการมีพันธมิตร ภาคเอกชนที่มีความพร้อมมาช่วยในการสนับสนุน และขับเคลื่อนทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทักษะทุนชีวิต คือความยั่งยืน อยากสร้างตรงนี้ขึ้นมาให้ได้ ประเทศต้องการนักเรียนอาชีวะ มากขึ้น 10 เท่า การศึกษาที่นำอารมณ์ ของนักศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นหัวใจที่ทำให้เราพัฒนาทักษะ ด้วยการศึกษา หากทุกฝ่ายร่วมกัน เราจะสร้างความยั่งยืนได้” นายมนตรี กล่าว
ด้าน นายโชคดี สกุลกวีพร ผู้อำนวยการกองการศึกษาเทศบาลเมืองพะเยา กล่าวว่า จังหวัดพะเยา เป็นท้องถิ่นเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมาก และทักษะทุนชีวิตก็เป็นนโยบายหลักของ จังหวัดพะเยา โดยมองว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นการเตรียมความพร้อม ซึ่งทางจังหวัดมีนโยบายจัดการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน และจากผลสำรวจที่น่าเป็นห่วง คือ ทักษะการอ่านออกเขียนได้ของภาคเหนือที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้เกิดการเน้นการพัฒนาตั้งแต่เด็กปฐมวัย เน้นทักษะการฟังให้เด็กเล็ก เมื่อเขาฟังจะเกิดเป็นจินตนาการ และนำไปสู่เรื่องการเขียน และเมื่อเด็กมีความพร้อมเราจะส่งเข้าสู่ระบบการศึกษา การอ่านได้อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องสอนให้สามารถสะกดคำและอ่านเข้าใจความหมายด้วย เมื่อเรียนในระดับสูงขึ้น ก็จะเพิ่มทักษะการวิเคราะห์ด้วย เพราะภาษาไทยเป็นพื้นฐานของทุกศาสตร์ ขณะที่ทักษะด้านดิจิทัล ได้ส่งเสริมให้ สอนเด็กเรียน Coding มีหุ่นยนต์ในการฝึกเขียนคำสั่งสำหรับเด็กเพื่อให้เขามีพื้นฐาน
“นอกจากนี้ โรงเรียนเทศบาลเมืองพะเยาที่ให้โอกาสผู้คนทุกชั้น ไม่มีการคัดเลือก ใครพาเข้ามาเรียนเรารับหมด เพราะเรามีโอกาสในการพัฒนาลูกหลาน ที่เสริมการเรียนทักษะดิจิทัล ทักษะภาษาอังกฤษ และจีน รวมทั้งการศึกษานอกระบบ ที่มีมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมจัดทำหลักสูตรกับ สกร. มีหลักสูตรระยะสั้นตามความสนใจของประชาชน เช่น การประดิษฐ์สิ่งของ การเป็นยูทูบเบอร์ ซึ่งจะมีไปประกาศรับรองที่เทียบเกรดกับ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้” นายโชคดี กล่าว
นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สิ่งที่ทำมีความแตกต่างด้วยบริบทของพื้นที่ โดยพยายามใช้ต้นทุนที่มีในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยใช้หลักคิดเรียบเรียงคำว่า “ทักษะทุนชีวิต” เป็น “ชีวิต ทุน ทักษะ” กล่าวคือ ต้องให้ความสำคัญกับการมีชีวิตก่อน และเมื่อมีทุนมาส่งเสริมก็จะช่วยให้เกิดเป็นทักษะ ซึ่งการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้จะแตกต่างจากพื้นที่อื่น คือมีทั้ง “สามัญ” และ “ศาสนา” ในทุกระดับชั้นการศึกษา จะมีหลักสูตรทางศาสนาเข้ามาในชั้นเรียน เรียกว่าเป็น “การสร้างชีวิต” โดยในวงจรการศึกษา คือ เริ่มตั้งแต่การ “อุ้มท้อง” จำเป็นต้องให้ความรู้ในการดูแลตั้งแต่ในท้อง เพื่อให้เด็กที่เกิดมามีความแข็งแรงและพร้อม เติบโตขึ้นมาเรียนรู้วิชาชีวิต
“เราสนับสนุนจัดระบบการศึกษาที่มี ศาสนา และ สามัญ เราสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กของเรา เมื่อเขาประสบความสำเร็จ จะทำให้เกิดความยั่งยืน ให้เด็กค้นหาตัวตนได้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรียนปริญญาตรีมาแล้ว มากองอยู่ไม่มีงานทำ เพราะเราสร้างการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ รวมทั้งการปรับทัศนคติพ่อแม่ ที่มุ่งว่าอยากให้ลูกเป็นข้าราชการ โดยไม่ถามลูก ไม่ดูศักยภาพลูก เราควรส่งเสริมให้เด็กกลับมาทำงานที่บ้านเกิดและการส่งไม้ต่อทางการศึกษานั้นสำคัญมาก ต้องมีการบูรณาการในการรับไม้-ต่อส่งไม้ และส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเด็กดี เด็กเก่ง และสำเร็จในอาชีพ อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม” นายเศรษฐ์
นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวถึงการแลกเปลี่ยนครั้งนี้สะท้อนประเด็นการพัฒนาทักษะทุนชีวิตในระดับจังหวัด ว่าปัจจุบันกว่า 40 ประเทศทั่วโลกทำการศึกษาวิจัยในด้านนี้ ซึ่งของไทยนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจ โดย 3 ทักษะที่สำคัญ คือ ทักษะรู้หนังสือทักษะดิจิทัล และทักษะทางด้านอารมณ์ โดยเฉพาะการรู้หนังสือ เป็นปัญหาที่ลงลึกไปถึงผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการอ่านฉลากยา นับว่าเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญต่อการมีอาชีพและใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนทักษะดิจิทัล เช่น การซื้อของออนไลน์ การรับสวัสดิการของรัฐ พบว่าในแรงงานกลุ่มเปราะบางไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ ขณะที่ทักษะด้านอารมณ์และสังคม ก็ได้รับเสียงสะท้อนมาว่า แรงงานขาดทักษะเรื่องการคิดวิเคราะห์ จัดการอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ การมีส่วนร่วม โดยพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานไทย มีทักษะที่ไม่ถึงเกณฑ์ใน 3 ด้านนี้ ที่เรียกว่าทักษะทุนชีวิต มีผลให้เกิดความเสียหายทางมูลค่าเศรษฐกิจระดับประเทศถึง 1 ใน 5 ของจีดีพี ส่วนในระดับบุคคล พบว่า คนที่ผ่านเกณฑ์กับคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ มีรายได้ต่างกันเฉลี่ยสูงถึง 6,700 บาทต่อเดือน อีกกลุ่มคือ คนที่อยู่นอกระบบการศึกษา และแรงงานนอกระบบ กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของประชาการ ทำให้ประกอบอาชีพที่ดีขึ้น และเพื่อยกระดับรายได้
“การทำงานที่สำคัญ คือ การมองลงไปที่ระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น ที่จะทำงานไปด้วยกัน โดยสิ่งที่สามารถทำได้คือ การวิเคราะห์รายงานของตนเอง สามารถบอกได้ว่าแรงงานกลุ่มไหนทักษะอ่อน กลุ่มไหนเปราะบาง เพื่อให้การพัฒนาทักษะทำได้แบบเจาะกลุ่ม ไม่ใช่การหว่านแห ทั้ง 3 จังหวัด มีเป้าหมายในการทำงานนี้ เช่น จังหวัดระยอง แสดงวิสัยทัศน์ให้เราได้เห็นความพร้อมของแรงงาน มีขีดความสามารถ เป็นตัวชี้วัดที่ทำให้เห็นว่าพื้นที่มีความพร้อม จังหวัดพะเยา ก็มีศักยภาพท่ามกลางบริบทที่แตกต่าง แต่มีวิสัยทัศน์ในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ และจังหวัดปัตตานี เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้คนทุกกลุ่ม ตอนนี้เรามีข้อมูลสถานการณ์ให้แล้ว และยังมีกองทุนของจังหวัดในการดำเนินการ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างแนวทางที่เราจะเดินหน้าต่อไปด้วยกัน” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว