วุฒิสภา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดตัว Lanna Super Ap พร้อมผลักดันให้เป็น Soft Power ของประเทศไทย
.
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา อาคารสำนักอธิการบดี ชั้น 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) นำโดย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง ร่วมประชุมติดตามและแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดทำแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ อันเป็นผลสำเร็จจากการสนับสนุนของวุฒิสภา สืบเนื่องจากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) ลงพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน วุฒิสภาได้เห็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ การใช้ Soft Power จาก “อัตลักษณ์ประจำถิ่น” ที่โดดเด่น เช่น การท่องเที่ยว อาหาร เทศกาลประเพณี โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันศึกษา และนักออกแบบท้องถิ่นทั้ง 8 จังหวัด โดยใช้เศรษฐกิจฐานรากขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีการจัดทำแอพพลิเคชั่นและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งวุฒิสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน และขณะนี้แอพพลิเคชั่นมีความครบถ้วนสมบูรณ์และพร้อมที่จะให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
สำหรับการประชุมดังกล่าวมีคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจาก 8 จังหวัดล้านนาเข้าร่วมด้วย อาทิ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด องค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งในงานได้มีการสาธิตวิธีการใช้แอพพลิเคชั่น การทดลองเข้าระบบ และหลังจากการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นดังกล่าวแล้ว จะได้มีการติดตามประเมินผลการใช้และขยายผลต่อยอดให้ครอบคลุมทั้ง 8 จังหวัดต่อไป
.
นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้ติดตามความคืบหน้าการจัดทำ Leisure Lanna Super App ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการขยายผลต่อยอดการนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่ให้ครอบคลุมไปยัง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พร้อมชูให้เป็น Soft Power ของประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็น Super App ที่มีความครบสมบูรณ์และพร้อมให้บริการ ตั้งเป้าหมายให้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบน สนับสนุนการตลาดกลางดิจิทัลในการแลกเปลี่ยนและร่วมกันใช้อัตลักษณ์ของชุมชนล้านนาเพื่อขยายตลาดให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ โดยมีผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจาก 8 จังหวัดล้านนาเข้าร่วมประชุม
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน