ข่าวรัฐสภา

กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการบริหารงาน การบริหารงบประมาณ แนวคิดการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล

กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการบริหารงาน การบริหารงบประมาณ แนวคิดการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัลและความคืบหน้าการดำเนินงานสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ ชั้น 2 นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง พร้อมด้วย คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ ลงพื้นที่เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมี นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นางสาววิสาขา ภารประดิษฐ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ คณะผู้บริหาร และผู้แทนส่วนราชการของจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายสรุปในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ (อบจ.) มีนโยบายการบริหารงาน จำนวน 5 ด้าน ประกอบด้วย
1) ด้านการเมือง (Policy on Politics)
2) ด้านการพัฒนาสังคม (Policy on Social)
3) ด้านเศรษฐกิจ (Policy on Economics)
4) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Policy on Natural
Resources and Environmental)
5) ด้านการบริหารจัดการ (Policy on Administrative)
โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณใน 4 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) การจัดบริการสาธารณะด้านการศึกษา 2) การจัดบริการสาธารณะด้านโครงสร้างพื้นฐาน 3)การจัดบริการสาธารณะด้านสังคม 4) การจัดบริการสาธารณะด้านบริหารจัดการ
2. อบจ. มีแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล ดังนี้
1) การนำระบบบริหารจัดการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) สำหรับให้ประชาชนยื่นคำร้องเรียนปัญหาในพื้นที่ผ่านช่องทางออนไลน์และติดตามสถานะการแก้ไขปัญหาได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ
2) การนำระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติงานรับ-ส่งหนังสือราชการ
3. องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ รับการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุข
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 51 แห่ง จาก 13 อำเภอ แบ่งออกเป็น ขนาดเล็ก S จำนวน 3 แห่ง ขนาดกลาง M จำนวน 41 แห่ง และขนาดใหญ่ L จำนวน 7 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 33 จากจำนวน สอน. และ รพ. สต. ในจังหวัดกาฬสินธุ์ทั้งหมด 156 แห่ง ส่งผลให้ อบจ. มีผลการประเมินความพร้อมจากสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในระดับดีเลิศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคของ อบจ. มีดังนี้
1) ด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง
การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ขัดกับหลักการการกระจายอำนาจ และการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2) ด้านบุคลากร โครงสร้างกรอบอัตรากำลัง และตำแหน่งบุคลากรสายวิชาชีพ และสายสนับสนุน ของ รพ.สต. ในการถ่ายโอนภารกิจ ขนาดเล็ก S จำนวน 7 อัตรา ขนาดกลาง M จำนวน 12 อัตรา และขนาดใหญ่ L จำนวน 14 อัตรา ไม่สอดคล้องกับการจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ

ภายหลังการบรรยายสรุป พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ ได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อแนะนำ สรุปได้ดังนี้
1. องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในเรื่องการพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น ซึ่งจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนในสังกัดกว่า 300 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนและพัฒนาด้านการศึกษาจนเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ ถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ดี สำหรับการพัฒนาเยาวชน อบจ. ควรส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษาภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการศึกษาจึงได้จัดทำรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการปฏิรูปการจัดการศึกษาของท้องถิ่น โดยคณะรัฐมนตรีได้รับทราบผลการพิจารณาศึกษาในเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้ส่งผลการพิจารณา พร้อมข้อคิดเห็นมายังคณะกรรมาธิการ
2. ปลูกฝังอุดมการณ์ของครู บุคลากรทางการศึกษา ให้พิทักษ์ เทิดทูน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจในหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3. อบจ. ได้มีการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City ด้าน Smart Governance ทั้งนี้ ควรขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ครบทั้ง 7 ด้าน

ในท้ายนี้ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้ความช่วยเหลือราษฎรโดยพิจารณาการขอทบทวนการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย ดงน้ำจั้น ดงบ้านอ้น และดงเหล่าแขม ต่อประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะได้นำข้อมูลที่ได้รับในวันนี้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน