คณะกรรมาธิการ ตสร. จัดสัมมนาเรื่อง “สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ในห้วงปี พ.ศ. 2562-2566” พร้อมมีข้อเสนอแนะไปยังฝ่ายบริหารนำไปประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนฯ ในห้วงเวลาที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
.
วันที่ 25 มกราคม 2567 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ จัดสัมมนาเรื่อง “สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ในห้วงปี พ.ศ. 2562-2566” โดยมี พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานเปิดการสัมมนา พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา บุคลากรในวงงานรัฐสภา ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าร่วมการสัมมนา
.
การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการ ตสร. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม.270 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะกรรมาธิการได้พบจากการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมข้อเสนอแนะต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เพื่อให้คณะกรรมาธิการได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงจากฝ่ายบริหาร เช่น ปัญหาอุปสรรคที่ฝ่ายบริหารพบจากการปฏิบัติหน้าที่ และข้อเสนอแนะของฝ่ายบริหารต่อ
แนวทางการแก้ไขปัญหา และเพื่อให้การนำเข้าข้อมูลในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ของหน่วยปฏิบัติมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพียงพอต่อการวิเคราะห์ประเมินผล
.
ซึ่งคณะกรรมาธิการ ได้มีข้อเสนอแนะต่อผู้แทนส่วนราชการ ดังนี้
1. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ควรพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Big Data) ด้านแรงงาน เพื่อให้มีการเชื่อมข้อมูลกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริการจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ
2. การเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ ควรดำเนินการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ควรกำหนดให้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 แผน เป็นแผนบูรณาการและกำหนดให้มีงบบูรณาการเพิ่มเติมสำหรับ 23 แผนดังกล่าว โดยมีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณสนับสนุนเป็นการเฉพาะ
4. ควรกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
5. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ควรออกแบบกระบวนการประเมินผลเชิงคุณภาพ โดยอาจกำหนดให้สถาบันการศึกษาในจังหวัด หรือในพื้นที่ เป็นผู้ประเมินโครงการสำคัญในงบบูรณาการ
.
และจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ส่วนราชการที่เข้าร่วมการสัมมนา ได้มีประเด็นข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้
1. ระบบ eMENSCR ควรรองรับการบันทึกงบประมาณสำหรับโครงการที่ไม่ได้รับจัดสรรงบได้ เนื่องจากส่วนราชการได้นำงบประมาณในส่วนอื่นมาใช้สนับสนุนการดำเนินการ แต่ไม่สามารถบันทึกข้อมูลงบประมาณในระบบ eMENSCR ได้
2. ควรพัฒนาระบบ eMENSCR ให้มีความเสถียร โดยเฉพาะกรณีการใช้งานจำนวนมากในเวลาเดียวกับ และควรแก้ไขกรณีการจำกัดระยะเวลาในการกรอกข้อมูลและรายงานข้อมูลให้มีความอ่อนตัวมากขึ้น
3. ในขั้นตอนการจัดทำแผนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรเข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับ เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงประเด็น
4. ควรมีการบูรณาการระบบงานโดยเชื่อมโยงระบบ eMENSCR กับระบบการติดตามและประเมินผลของหน่วยงานเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการรายงานผล
.
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะนำข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากการสัมมนาร่วมกับผู้แทนจากส่วนราชการ ไปดำเนินการภายใต้บทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน