พังงา-สวยงาม หนึ่งเดียวในภาคใต้ โบสถ์ไม้สักริมทะเลอันดามันที่วัดวัดเทสก์ธรรมนาวา อำเภอท้ายเหมือง ภาพมุมสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาคภาคใต้ ร่วมกับ ททท.สำนักงานพังงา จัดกิจกรรม Fam Trip นำคณะสื่อมวลชน ร่วมสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อทำสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ให้กับการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงา โดยนำคณะเยี่ยมชมวัดเทสก์ธรรมนาวา หรือวัดท่าไทร ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งเป็นวัดพระป่า สายหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย ที่นี่มีความโดดเด่นด้วย“โบสถ์ไม้สักริมทะเล” หนึ่งเดียวในภาคใต้ มีขนาดกว้าง 8.30 เมตร ยาว 23.10 เมตร สูง 13.54 เมตร บานหน้าต่างโบสถ์ไม้สักด้านหนึ่งเมื่อเปิดออกเห็นชายหาดและทะเลฝั่งทะเลเพราะตั้งอยู่ติดกับหาดชายทะเลท่าไทร แถมยังมีงานแกะสลักไม้อันสวยงาม ทำให้โบสถ์ไม้สักวัดท่าไทรได้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวเส้นทางธรรมอีกหนึ่งจุดใน จ.พังงา
วัดเทสก์ธรรมนาวา หรือ “วัดป่าไทร”(ชื่อเดิม) ตั้งอยู่ที่บ้านท่าแตง ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เป็นวัดริมทะเลบริเวณหาดชายทะเลท่าไทร ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นป่าเรียก“ป่าท่าไทร”
และ ยังเคยเป็น“ป่าช้า”มาก่อน เนื่องจากในอดีตป่าท่าไทรแห่งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่และละแวกใกล้เคียง เมื่อมีคนตายเสียชีวิตลงก็จะนำศพล่องเรือมาเผาหรือฝังยังป่าท่าไทรแห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านเรียกขานกันว่า “อ่าวเหรว” ในปี พ.ศ. 2534 พระอาจารย์เสนอ วัดถ้ำทะเลหอย จ.กระบี่ ได้ขอพื้นที่จากอธิบดีกรมป่าไม้สมัยนั้นอนุมัติให้ใช้พื้นที่ตามโครงการ พุทธศาสนากับป่าไม้ ในชื่อโครงการว่า ศูนย์สาธิตพระพุทธศาสนากับป่าไม้ ภายใต้การกำกับดูแลของวัดประชาธิการาม ใน ปี พ.ศ. 2537 ได้ก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์ท่าไทร หลังจากนั้นก็ได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีพระภิกษุมาพำนักอยู่ในบางขณะ เนื่องจากสำนักสงฆ์ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการนิมนต์ “พระอาจารย์วินัย รัตนวณฺโณ” พระป่าสายสายหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย จากนั้นพระอาจารย์วินัยเมื่อมาพำนักปฏิบัติธรรมที่สำนักสงฆ์ท่าไทร ก็ได้นำพาศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนก่อสร้างเสนาสนะพร้อมอบรมปฏิบัติธรรมในที่ดินสาธารณะประโยชน์หรือป่าช้าเดิม จนดำเนินการก่อตั้งวัดขึ้นมา และได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553 นามว่า “วัดเทสก์ธรรมนาวา” ซึ่งได้รับประทานนามวัดจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก