ข่าวรัฐสภา

คณะกรรมาธิการ ตสร. จัดสัมมนาเรื่อง “สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ในห้วงปี พ.ศ. 2562-2566”

คณะกรรมาธิการ ตสร. จัดสัมมนาเรื่อง “สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ในห้วงปี พ.ศ. 2562-2566”

พร้อมมีข้อเสนอแนะไปยังฝ่ายบริหารนำไปประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนฯ ในห้วงเวลาที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
.
วันที่ 23 มกราคม 2567 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ จัดสัมมนาเรื่อง “สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ในห้วงปี พ.ศ. 2562-2566” โดยมี พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานเปิดการสัมมนา พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ ตสร. สมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมการสัมมนา
.
พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา กล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 65 บัญญัติให้ “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน..” ประกอบกับมาตรา 257 และมาตรา 258 กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศพร้อมระบุเป้าหมายว่าเพื่อวางรากฐานการพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนในสังคมมีโอกาสทัดเทียมกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังจากการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ

ทำให้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีความมุ่งหมายให้ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศเป็นเครื่องมือและกลไกในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคงสถาพรของชาติและประชาชนไทย วุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากจะมีหน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติหลักของวุฒิสภา ยังมีหน้าที่และอำนาจสำคัญยิ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 270 คือ การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งนำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการ ตสร. ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ขึ้น แสดงให้เห็นว่าวุฒิสภาให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติภารกิจนี้ โดยการสัมมนาวันนี้มุ่งหวังให้ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไข นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อแสวงหา แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของฝ่ายบริหารให้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ยิ่งในการที่ฝ่ายบริหารจะได้นำข้อเสนอแนะที่วุฒิสภาได้นำเสนอไปประยุกต์ใช้กับการขับเคลื่อนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ในห้วงเวลาที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ต่อไป
.
สำหรับภายในการสัมมนาฯ มีการสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ ตสร. ที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2562-2566) ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ การแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติเพื่อผลักดันไปสู่การบรรลุเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมสัมมนาดำเนินการนำเข้าข้อมูลในระบบ eMENSCR เพื่อให้ระบบมีข้อมูลที่ครบถ้วน สมบูรณ์ เพียงพอต่อการวิเคราะห์และประเมินผล รวมถึงมีการส่งมอบเอกสารข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ของคณะกรรมการ ตสร. ต่อส่วนราชการ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ มีการจัดแสดงนิทรรศการสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ ตสร. ในช่วงที่ผ่านมา และการดำเนินงานในปี 2566-2570 ที่เน้นตระหนัก รับรู้ ร่วมมือ ขับเคลื่อน ตั้งแต่ต้นน้ำ ในการจัดทำแผนบูรณาการ การจัดทำโครงการสำคัญและการจัดทำโครงการของกระทรวงและจังหวัด

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน