ข่าวรัฐสภา

อนุฯ กิจการคนพิการ วุฒิสภา ติดตามการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่ – นครพนม ที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยสะดวกถ้วนหน้า

อนุฯ กิจการคนพิการ วุฒิสภา ติดตามการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่ – นครพนม ที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยสะดวกถ้วนหน้า ณ จังหวัดขอนแก่น

วันที่ 17 มกราคม 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ สถานีรถไฟบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา นำโดย นายมณเฑียร บุญตัน กรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ พร้อมด้วยที่ปรึกษาและอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่ – นครพนม ตามข้อเสนอการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทางรางที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยสะดวกถ้วนหน้าของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา โดยมี นายไชยา วงศ์สิทธิพรรุ่ง วิศวกรกำกับการ ฝ่ายโครงการพิเศษและการก่อสร้าง นายพิชัย วัฒนศรีมงคล วิศวกรกำกับการกองบำรุงทางเขตขอนแก่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ที่ปรึกษาโครงการ ผู้รับจ้างก่อสร้าง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับพร้อมทั้งให้ข้อมูลและนำเยี่ยมชมพื้นที่การบริการของสถานีรถไฟบ้านไผ่ อาทิ จุดจอดรถ ทางลาดขึ้นสถานี ช่องจำหน่ายตั๋ว ห้องน้ำสำหรับคนพิการ จุดที่นั่งพักคอยการโดยสาร บันไดเลื่อนและลิฟท์ขึ้น-ลงชานชาลา การอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาทิ เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการขึ้นลงขบวนรถไฟ จอแสดงผลการโดยสาร ณ บริเวณชานชาลา จากนั้น คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการได้ทดลองใช้บริการรถไฟ เลขขบวน 431 (เส้นทางบ้านไผ่-ขอนแก่น) เพื่อเดินทางจากสถานีรถไฟบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ไปยังสถานีรถไฟขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

เวลา 11.30 นาฬิกา คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ เดินทางถึงสถานีรถไฟขอนแก่น โดยได้เดินทางเยี่ยมชมพื้นที่ภายในสถานีรถไฟขอนแก่น พร้อมทั้งเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่ – นครพนม รวมระยะทาง 355 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 70 ตำบล 19 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม รวมสถานีรถไฟ 18 สถานี ป้ายหยุดรถไฟ 12 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเวนคืนที่ดินและส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้าง โดยงานก่อสร้างสัญญาที่ 1 เริ่มเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ก่อสร้างไปแล้วร้อยละ 2.88 ซึ่งการออกแบบทางเดินเชื่อมชานชาลาของสถานีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จะเป็นทางเดินยกระดับข้ามทางรถไฟ รวมทั้ง มีสะพานลอยและลิฟท์โดยสารครบถ้วนทุกสถานี นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคนรวมทั้งคนพิการ ได้แก่ การเข้าถึงพื้นที่ การสัญจร การติดตั้งกระเบื้องพื้นผิวสัมผัส ห้องน้ำ-ห้องส้วมสำหรับคนพิการ ระบบป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ และเส้นทางอพยพของผู้โดยสาร ตามแนวคิดการออกแบบที่เป็นสากล เป็นมิตร และเป็นธรรมเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design : UD)

โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการเห็นว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีการดำเนินการที่ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในการสร้างหลักประกันให้เกิดการเข้าถึงได้โดยสะดวกถ้วนหน้าของผู้โดยสารทุกกลุ่ม ทุกสถานี ทุกขบวน และทุกตู้โดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบตามหลักการ UD นอกจากนี้ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามมิให้มีการข้ามชานชาลาในระดับเดียวกับราง แต่ให้ใช้ทางข้ามแบบลอดหรือยกระดับแทน รวมถึงการติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดนำทาง (guiding block) ไปยังเคาน์เตอร์บริการ และพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน (warning block) อย่างไรก็ตาม ยังมิได้มีการลงความเห็นอย่างชัดเจน การรถไฟแห่งประเทศไทยควรหารือร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการจะนำข้อมูลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ไปประกอบการพิจารณาศึกษาในประเด็นการเข้าถึงโดยสะดวกถ้วนหน้าต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน