เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ นายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล ปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน เปิดโครงการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่1 โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำยา อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนายเกื้อศักดิ์ ทาทอง วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายเสกสรร กลิ่นพูน นายอำเภอหล่มเก่า กล่าวต้อนรับ มีคณะบริษัทที่ปรึกษา หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบพร้อมด้วยสื่อมวลชนเข้าร่วมงานพร้อมเปิดเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีจุดให้แสดงข้อกังวล และความคาดหวัง เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ ทั้งนี้เพื่อให้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำยา เป็นไปด้วยความถูกต้องตามหลักวิชาการและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
จากปัญหาการขาดแคลนน้ำและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักจังหวัดเพชรบูรณ์ และปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประกอบกับที่พระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริ เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ว่า “ควรพิจารณาวางโครงการเก็บกักน้ำตอนบนของลำน้ำสาขาแม่น้ำป่าสัก เพื่อใช้ด้านการเกษตรและป้องกันอุทกภัย เนื่องจาก
น้ำเหนือเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณมากและให้พิจารณาจัดเก็บให้เหมาะสม”กรมชลประทาน จึงมีแผนพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดกลางเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวม19 โครงการ โดยมีอ่างเก็บน้ำห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอวิเชียรบุรี และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำยา อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นโครงการในแผนดังกล่าวด้วย และได้มอบหมายให้บริษัท สามารถ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำห้วยยาง และความเหมาะสมประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำยามีระยะเวลาปฏิบัติงาน 540 วัน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2568 ในส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำยา อำเภอหล่มเก่า สำนักบริหารโครงการกรมชลประทานได้จัดทำรายงานการศึกษาเบื้องต้น โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำยา แล้วเสร็จเมื่อปี 2563 จากผลการศึกษาเบื้องตัน พบว่าพื้นที่ หัวงานและอ่างเก็บน้ำอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพ ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเรือ ป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกซำซางในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม โซน C จึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฏหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามขั้นตอน เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างโครงการ
ข่าวเพชรบูรณ์