ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเชียงใหม่ ข่าวเด่น

ชาวปะโอ( เมียนมาร์ )วัดหนองคำ จังหวัดเชียงใหม่ ชวนชมรูปจิตรกรรมดาวเคราะห์สถาปัตยกรรมศิลปะแบบพม่าอัตลักษณ์เครื่องนุ่งห่มของตนเองที่น่าชม พร้อมขอพรปีใหม่

ชาวปะโอ( เมียนมาร์ )วัดหนองคำ จังหวัดเชียงใหม่ ชวนชมรูปจิตรกรรมดาวเคราะห์สถาปัตยกรรมศิลปะแบบพม่าอัตลักษณ์เครื่องนุ่งห่มของตนเองที่น่าชม พร้อมขอพรปีใหม่

วัดหนองคำ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่เป็นวัดที่ชาวพม่าที่พำนักในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ และยังคงมีศิลปวัฒนธรรมของความเป็นชาวพม่าปรากฏ วัดหนองคำเป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2380 ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2380 ได้รับพระราชทานพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ. 2533 วัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยความสามัคคีกันของคณะอุบาสิก อุบาสิกา ชาวปะโอ (ต่องสู้) ผสมไต (ไทใหญ่) และคณะอุบาสก อุบาสิกาชาวไทยในเมืองเชียงใหม่ จนเมื่อ ปี พ.ศ.2380 ได้ชื่อวัดหนองคำ เนื่องจากในสมัยนั้นที่ตั้งวัดเป็นป่า มีบึงกว้างและลึก อยู่ทางทิศเหนือหลังวัด ต่อมาเมื่อมีการขยายตัวของเมืองบึงใหญ่ก็เป็นหนองน้ำ จากคำบอกเล่าในสมัยนั้น พบว่าใต้ก้นบึ้งของน้ำมีทองคำจำนวนมาก ความยาวของหนองน้ำขณะนั้นประมาณ 600 เมตร ซึ่งอ้อมมาทางทิศตะวันออกจรดถนนใหญ่หน้าวัด ทางวัดได้ใช้บึงใหญ่กับหนองน้ำดังกล่าวเป็นกำแพง โดยธรรมชาติ และเป็นเขตของวัดไปด้วยพร้อมกัน อาศัยเหตุนี้จึงเรียกว่า วัดหนองคำ

วัดหนองคำได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2445 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 11 เมตร ยาว 12 เมตร ในสมัยพระสันติละ ชาวปะโอ เป็นเจ้าอาวาส ในอดีต วัดหนองคำขึ้นอยู่กับการปกครองคณะสงฆ์พม่า จึงทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและเรียกวัดนี้ว่า วัดพม่า แต่โดยแท้จริงแล้ว วัดนี้เป็นวัดของชาวปะโอ หรือ ต่องสู้ หรือ ชาวเงี้ยว ที่อยู่ภายใต้การปกครองของคณะสงฆ์พม่าเท่านั้น

ซึ่งชาวปะโอนั้นจะมีประเพณี วัฒนธรรม ของตนเอง นับถือพญานาค เครื่องแต่งกายจะมีรูปของพญานาคไว้โพกหัว และติดหน้าอก มีภาษาพูด และเขียนคล้ายชาวล้านนาในอดีต และมีอัตลักษณ์เครื่องนุ่งห่มของตนเองที่น่าชม
วัดหนองคำมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มีพระธาตุแบบเจดีย์ทรงฐานสูงสองชั้น มีห้องเล็กๆเพื่อเก็บคัมภีร์และหนังสือใบลานต่างๆ ภายในพระอุโบสถ มีพระประธานเนื้อปูนปั้น 3 องค์ พร้อมด้วยพระสาวก ทรงโปรดพระโพธิสัตว์สุเมธ ฤษี ไม้ ลงรักปิดทอง ศิลปะแบบพม่า สัตตภัณฑ์ เครื่องบูชา มีพระบัลลังหรือซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปหรือชาวปะโอเรียกว่า พระจอง หรือ พระบัลลังก์ 2 หลัง ทำด้วยไม้ มีลักษณะช่อฟ้าใบระกางดงามตามแบบพม่า นอกจากนี้ในวิหารยังมีรูปจิตรกรรมดาวเคราะห์ต่างๆ และพุทธประวัติต่างๆ บนฝ้าเพดานให้ชมอีกด้วย

นอกจากนี้พระอานนท์ อินฺทวํโส (ปู่อ้าย)เจ้าอาวาสวัดหนองคำ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ยังเป็นองค์ผู้ถ่ายทอดบทสวดการบูชาคุณพระรัตนตรัย และคาถาบารมี 30 ทัศ ให้เป็นภาษาเมียนมาร์โดยการแปลจากภาษาไทย เป็นภาษาปะโอ ตามวิถีพุทธในแบบวัฒนธรรมชองชาวพม่า ที่สืบทอดจากคนรุ่นหลัง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในการสืบสานศาสนา ตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศภายใต้ร่มบารมีองค์หลวงปู่เฒ่าเกวลัน แห่งเทือกเขาหิมาลัย คณะศิษยานุศิษย์ รวมถึงมูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนา ได้ดำเนินกิจกรรมหนุนเสริมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเตรียมเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ทางด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ ต่อองค์การยูเนสโก ในสาขาวัฒนธรรมที่สร้างความสงบสุขอันนำไปสู่สันติภาพ ร่วมกับโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนภาคเหนือ (ตอนบน) โดยมุ่งหวังที่จะสืบสานศาสนา รักษาแผ่นดิน ผ่านกระบวนการธรรมทูต เพื่อนำไปเผยแพร่และประดิษฐานใน ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงการประสานงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในการจัดทำกรอบแนวทางการนำไปประดิษฐานเพื่อการติดตามและเก็บข้อมูลทั้ง 10 จังหวัด (ภาคเหนือ) ระดับประเทศและการเผยแพร่เกียรติคุณไปยังต่างประเทศ ประกอบการยกร่างข้อเสนอด้วยกระบวนการวิจัยที่สอดคล้องกับแบบเสนอ (ANNEX II) ที่องค์การยูเนสโกกำหนดอีกด้วย

อย่างไรก็ตามชาวปะโอยังคงรักษาประเพณี วัฒนธรรม ของตนเองได้อย่างดี หากใครมีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ไม่ควรพลาดที่จะมาชมความงดงามของวัดในแบบฉบับของชาวปะโอ.

ทรงวุฒิ ทับทอง