กมธ.การปกครองท้องถิ่นลงพื้นที่ติดตามการบริหารงาน การขับเคลื่อนและการพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ศาลหลักเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
โดยมีนายนิทัศน์ น้อยจันอัด รองนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี และคณะ ให้การต้อนรับ และนำคณะกราบสักการะหลวงพ่อพระพุทธโพธิ์ทอง เพื่อความเป็นสิริมงคล
.
จากนั้น เวลา 10.00 นาฬิกา คณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ชั้น 4 สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี โดยมีนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี นายธีรวัฒน์ สนิทชน ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น ผู้แทนท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี และคณะผู้บริหารท้องถิ่น ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายสรุปในประเด็นสำคัญดังนี้
1. จังหวัดอุดรธานีมีประเด็นการพัฒนา ประกอบด้วย
1) การพัฒนาศักยภาพการค้าการลงทุนและระบบโลจิสติกส์
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันลุ่มน้ำโขง
2) การส่งเสริมและยกระดับ
การผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรและความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก
3) การยกระดับคุณภาพชีวิต การสาธารณสุข และการศึกษา
4) การยกระดับมาตรฐาน
อุตสาหกรรมไมซ์ การกีฬา การท่องเที่ยวเชิงคุณค่า โดยใช้ศักยภาพและอัตลักษณ์ของจังหวัดอุดรธานีรองรับ การแข่งขันทุกรูปแบบ
5) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมเพื่อความคุ้มค่าและยั่งยืน
6) การเสริมสร้างสังคมที่เข้มแข็ง มั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
2. องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีมีโรงเรียนในสังกัด อบจ. จำนวน 8 แห่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีนวัตกรรมห้องเรียนดิจิทัลทุกแห่ง ประกอบด้วย ห้องพัฒนาศักยภาพ (ติวเตอร์) ห้องสมุดดิจิทัล ห้องเสต็มศึกษา ( Stem Education Center) และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์
3. การขับเคลื่อนและการพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอุดรธานี โดยการนำแพลตฟอร์มของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นระบบบริการประชาชนที่ประกอบด้วย 5 บริการหลัก คือ
1) ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS) จังหวัดอุดรธานีดำเนินงานได้ร้อยละ 100
2) ระบบขออนุญาตก่อสร้าง (สำหรับพื้นที่ไม่เกิน 150 ตร.ม.) ประชาชนสามารถขออนุญาตได้ด้วยตนเอง
3) ระบบออกหนังสือรับรองแจ้งสถานที่จำหน่ายอาหาร
4) ระบบชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อาทิ ค่าขยะ ค่าบำบัดน้ำเสีย ผ่านระบบออนไลน์
5) ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถใช้งานระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับ-ส่งหนังสือราชการกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ได้สะดวกรวดเร็ว
.
พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อสังเกต 2 ประการสำคัญคือ
1. การขับเคลื่อน Soft Power โดยนำอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากชุมชน จัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมของท้องถิ่นผ่านงานเทศกาลและประเพณีต่าง ๆ การใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น อาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา ภูมิปัญญา และสถานที่ท่องเที่ยว
2. ควรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ Smart City อาทิ พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และ การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต
.
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
.
ต่อมาเวลา 13.30 นาฬิกา จ่าสิบเอก สามิตร ศรีสองเมือง หัวหน้าสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี และคณะ นำคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น ณ วัดป่าบ้านตาด และพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) เพื่อกราบสักการะพระเจดีย์ ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ทอีกทั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน เป็นอนุสรณ์สถานที่เก็บรวบรวมประวัติและคำสอน เพื่อให้พระสงฆ์และฆราวาสรุ่นหลังได้รำลึกถึงคุณูปการทั้งในทางโลกและทางธรรม และเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติทางพุทธศาสนา พร้อมทั้งกราบนมัสการพระราชวชิรธรรมาจารย์,วิ.(สุธรรม สุธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด เพื่อความเป็นสิริมงคล และสืบสานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนต่อไป
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน