วันที่ 10 พ.ย.66 ที่ห้องประชุมโรงแรมไบรท์ตัน แกรนด์ พัทยา จ.ชลบุรี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ยกร่าง “ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา” โดยมี นายศิวัช บุญเกิด รองปลัดเมืองพัทยา เป็นผู้กล่าวรายงาน ร่วมด้วยนายจารึก ไชยรักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.ปรีดา แต่อารักษ์ ประธานคณะทำงานโครงการยกระดับการพัฒนากลไกและขับเคลื่อนสุขภาวะแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา (คจ.สพ.) คณะอนุกรรมการฯ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมผู้แทนมหาวิทยาลัยบูรพา ประธานชุมชน 42 ชุมชน ผู้ประกอบการ และภาคเอกชนในเมืองพัทยา เข้าร่วมในการประชุม
สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา (คจ.สพ.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องตากสิน ศาลาว่าการเมืองพัทยา ที่ประชุมได้เห็นชอบประเด็นเพื่อพัฒนาเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย 1.ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา 2.ธรรมนูญสุขภาพกลุ่มอาชีพ และ 3.ธรรมนูญสุขภาพเกาะล้าน โดยให้มีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพชุมชน เกาะล้าน ในวันที่ 6 กันยายน 2566 เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานและสร้างการมีส่วนร่วมขยายผลการขับเคลื่อนเป็นต้นแบบ สู่การยกร่างธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา และร่างธรรมนูญสุขภาพกลุ่มอาชีพ ต่อมาในการประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยาและคณะทำงานเลขานุการกิจสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา (ลก.สพ.) ครั้งที่ 1/2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ย.66 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพกลไกขับเคลื่อนและพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 28 ก.ย. 66 โดยให้นำประธานชุมชน 42 ชุมชน + 1 เกาะล้าน รวมถึงคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ และภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหวังให้เกิดการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ สร้างความรู้ความเข้าใจและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา หาภาพอนาคตของเมืองพัทยา สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และให้การจัดสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ครั้งที่ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล นำไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะเดินหน้ายกร่าง “ธรรมนูญสุขภาพกลุ่มอาชีพ” ในลำดับต่อไป