คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 147 ณ กรุงลูอันดา สาธารณรัฐแองโกลา เป็นวันที่ห้า
วันที่ 27 ตุลาคม 2566 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดย นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 147 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 147th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 23 – 27 ตุลาคม 2566 ณ อาคารรัฐสภาแองโกลา กรุงลูอันดา สาธารณรัฐแองโกลา เป็นวันที่ห้า ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ดังนี้
1. คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีบริหาร (Governing Council) สมัยที่ 212 ในวาระที่สาม ในช่วงเช้า ณ ห้อง Plenary Hall ชั้น 1 อาคารรัฐสภาแองโกลา ที่ประชุมเริ่มต้นการพิจารณาระเบียบวาระด้วยการรับทราบรายงานการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงานเลขาธิการ IPU ในรอบหกเดือนที่ผ่านมา จากนั้นเวลา 10.30 นาฬิกา ที่ประชุมได้ตัดเข้าสู่วาระสำคัญ ได้แก่ การเลือกตั้งประธานสหภาพรัฐสภา ลำดับที่ 31 สืบแทน Mr. Duarte Pacheco ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาครั้งนี้ โดยที่ประชุมได้รับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งสุดท้ายจากผู้สมัครทั้ง 4 คน ได้แก่ Dr. Tulia Ackson (แทนซาเนีย) Ms. Adji Diarra Mergene Kanouté (เซเนกัล), Ms. Catherine Gotani Hara (มาลาวี) และ Ms. Marwa Abdibashir Hagi (โซมาเลีย) ภายในเวลาคนละ 5 นาที จากนั้นได้เปิดให้มีการลงคะแนนลับ (secret ballot) โดยขานชื่อประเทศทีละประเทศ ตามลำดับตัวอักษรชื่อประเทศ (เริ่มจาก Zambia) โดยที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งผู้นับคะแนน (tellers) จากสวีเดนและแคนาดา ทำหน้าที่สนับสนุนการนับคะแนนและรับรองผลคะแนน ทั้งนี้ ผู้แทนรัฐสภาไทยทั้งสามคนได้ร่วมออกเสียงลงคะแนนในนามประเทศไทยด้วย เมื่อเสร็จสิ้นการนับคะแนนแล้ว ผลปรากฏว่า Dr. Tulia Ackson ประธานรัฐสภาแทนซาเนียในฐานะผู้สมัครของแทนซาเนีย ได้รับคะแนนเสียง 172 คะแนน เหนือคะแนนของผู้สมัครอีก 3 คนรวมกัน (มาลาวี 61 คะแนน, เซเนกัล 59 คะแนน และ โซมาเลีย 11 คะแนน) จึงถือว่าเป็นการชนะการเลือกตั้งในรอบเดียวด้วยเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด (absolute majority) ตามข้อบังคับของ IPU ส่งผลให้ Dr. Tulia Ackson ได้ดำรงตำแหน่งประธานสหภาพรัฐสภา ลำดับที่ 31 (วาระตุลาคม 2566 – ตุลาคม 2570) ซึ่งคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ใช้โอกาสแสดงความยินดีกับประธานสหภาพรัฐสภาคนใหม่ด้วย
.
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในระเบียบวาระที่ยังค้างการพิจารณาต่อเนื่องจากวาระที่สอง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ได้แก่ การมีมติเห็นชอบให้บาฮามาสเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 180 ของ IPU และเห็นชอบให้องค์การรัฐสภากลุ่มประเทศ Mercosur (PARLASUR) ได้รับสถานะเป็นสมาชิกสมทบของสหภาพรัฐสภาด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบเพลงประจำสหภาพรัฐสภา (IPU Official Anthem) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 134 ปีของ IPU (รับฟังเพลง IPU Anthem ได้ทางช่อง YouTube ของ IPU https://www.youtube.com/watch?v=ngu9Irf69IM) พร้อมทั้งเห็นชอบการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายใน (internal auditor) 2 คน ได้แก่ สมาชิกรัฐสภาจากเบลเยียมและบาฮามาส
.
ในช่วงบ่าย ที่ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ ได้พิจารณาคำวินิจฉัย (decisions) ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (Committee on the Human Rights of Parliamentarians) ต่อกรณีข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาจากประเทศสมาชิกทั่วโลก โดยในครั้งนี้มีกรณีที่คณะกรรมการฯ ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ทั้งหมด 15 กรณี จาก 9 ประเทศ โดยมีสองประเทศจากอาเซียน ได้แก่ เมียนมาและฟิลิปปินส์ อีกทั้งยังได้รับฟังรายงานสรุปผลการจัดกิจกรรมการประชุมเฉพาะด้าน (specialized meetings) รวม 12 รายการ ที่ IPU จัดขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบปกติและในรูปแบบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงได้รับฟังรายงานจากคณะกรรมการเฉพาะด้าน (specialized bodies) ซึ่งเป็นหน่วยที่อยู่ภายใต้อาณัติของคณะมนตรีบริหารฯ รวม 9 คณะ
.
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ ยังได้ลงมีมติเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่เสนอชื่อโดยประเทศสมาชิกเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดต่างๆ ใน IPU ที่ว่างลงตามสัดส่วนของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา รวม 10 ตำแหน่ง จากกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ 4 กลุ่ม โดยในส่วนของกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ Mr. M. Dick (ออสเตรเลีย) และ Mr. F. Zon (อินโดนีเซีย) รวมถึง ตำแหน่งที่ว่างลงอีก 17 ตำแหน่ง ในคณะกรรมการชุดที่อยู่ภายใต้อาณัติของคณะมนตรีบริหารฯ รวม 5 คณะ ซึ่งในการดังกล่าวคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ร่วมลงมติเพื่อเลือกสมาชิกรัฐสภาไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (IPU Committee on the Human Rights of Parliamentarians: CHRP) และคณะกรรมาธิการว่าด้วยปัญหาตะวันออกกลาง (Committee on Middel East Question: CMEQ) ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครมากกว่าตำแหน่งที่ว่าง ผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตำแหน่งในคณะ CHRP เป็นของผู้สมัครจากสมาพันธรัฐสวิส และผู้สมัครของตุรกี และอินโดนีเซียได้ครองตำแหน่งในคณะ CMEQ ตามลำดับ
.
อนึ่ง ในช่วงท้ายของการประชุมคณะมนตรีบริหารฯ ที่ประชุมได้เข้าสู่ช่วงการอำลาตำแหน่งของ Mr. Duarte Pacheco สมาชิกรัฐสภาโปรตุเกส ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานสหภาพรัฐสภาจนครบวาระ 3 ปี (2563 – 2566) และรับฟังสุนทรพจน์อำลาตำแหน่งจาก Mr. Pacheco ในการดังกล่าวด้วย
.
ในช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 17.30 นาฬิกา เป็นต้นไป ที่ประชุมเต็มคณะได้เปลี่ยนเข้าสู่การพิจารณาวาระของสมัชชา (Assembly) ซึ่งที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ลูอันดา (Luanda declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการอภิปรายทั่วไปของที่ประชุมสมัชชาในครั้งนี้ที่เน้นย้ำถึงบทบาทอันสำคัญยิ่งของรัฐสภาในฐานะองค์กรหลักที่มีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลระดับชาติ และใช้อำนาจนิติบัญญัติขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 หรือ SDG 16 ว่าด้วยธรรมาภิบาลของภาครัฐ ที่จะประกันให้การบริหารรัฐกิจตั้งอยู่บนความโปร่งใส ความชอบธรรม ประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม หลักนิติรัฐ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงได้รับฟังรายงานจากคณะกรรมาธิการสามัญของ IPU ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้มีมติโดยฉันทานุมัติรับรองร่างข้อมติฉบับว่าด้วยแนวทางแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์จากเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยมีประเทศที่ตั้งข้อสงวนต่อเนื้อหาบางส่วนของข้อมติ ได้แก่ อินเดียและอิหร่าน ตลอดจนมีมติรับรองหัวข้อเรื่องซึ่งจะจัดทำเป็นร่างข้อมติในอนาคตของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ในหัวข้อ “ผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ที่มีต่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และระบบนิติรัฐ” (The impact of artificial intelligence on democracy, human rights and the rule of law) เพื่อรับรองในห้วงการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 149 พร้อมทั้งรับรองการแต่งตั้งผู้นำเสนอรายงานร่วม (co-rapporteurs) จากแคนาดาและแทนซาเนีย นอกจากนี้ ที่ประชุมสมัชชาฯ ยังได้รับรองญัตติ (motion) ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชายในแวดวงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติอีกด้วย
.
ก่อนพิธีปิดการประชุม ที่ประชุมได้รับฟังคำกล่าวปิดการประชุมจากประธานกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ทั้ง 6 กลุ่ม ตามธรรมเนียมปฏิบัติของ IPU ในตอนท้าย ที่ประชุมได้รับฟังถ้อยแถลงปิดการประชุมของ Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา และ H.E. Ms. Carolina Cerqueira ประธานรัฐสภาแองโกลา ก่อนที่ประธานรัฐสภาแองโกลาในฐานะประธานสมัชชาฯ จะปิดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 147 ลงอย่างเป็นทางการในเวลา 18.45 นาฬิกา
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน