สว.สุวรรณี เข้าประชุมคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 50 และการประชุมสหภาพรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 36
วันที่ 23 ตุลาคม 2566 นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา และผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี (Bureau of Women Parliamentarians) ครั้งที่ 50 โดยมี Ms. Cynthia Lopez Castro ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรีเป็นประธานในที่ประชุมและมี Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภาเข้าร่วมด้วย ที่ประชุม ได้เลือก Mrs. Bela Malaquias รองประธานรัฐสภาแองโกลา เป็นประธานการประชุมสหภาพรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 36 รับรองระเบียบวาระการประชุมสหภาพรัฐสภาสตรี และรับฟังความก้าวหน้าในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศอันเป็นกิจกรรมของสหภาพรัฐสภาจากฝ่ายเลขาฯ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับฟังการบรรยายสรุป ความร่วมมือระหว่างสหภาพรัฐสภาและคณะกรรมาธิการ CEDAW รวมทั้งรับฟังการดำเนินงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรีกับคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา
หลังจากนั้น นางสุวรรณี ได้เข้าร่วมประชุมสหภาพรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 36 พร้อมกับนางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยนางสุวรรณี ได้ร่วมกล่าวอภิปรายในหัวข้อ “สตรีในทางการเมือง: อยู่ต่อหรือออกดี” (Women in politics: To stay or not to stay?) ว่า ตามที่ตนได้เคยตอบแบบสำรวจ ของสหภาพรัฐสภาในหัวข้อ “การกีดกันทางเพศ การล่วงละเมิด และการใช้ความรุนแรงต่อสมาชิกรัฐสภาสตรี” (Sexism, harassment, and violence against women parliamentarians)
เมื่อปี พ.ศ. 2559 ซึ่งขณะนั้นข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับอยู่ ต่อมา
ในปี พ.ศ.2563 ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ออกประมวลจริยธรรมของแต่ละสภาบังคับใช้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามลำดับ รวมทั้งกรรมาธิการของทั้งสองสภา บทบัญญัติได้ระบุมาตรฐานของพฤติกรรมของสมาชิกที่เป็นความคาดหวัง มี “คณะกรรมการจริยธรรม” รับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรมจากสมาชิก บุคคลหรือหน่วยงานใด กรณีที่มีการกล่าวหาว่าสมาชิกหรือกรรมาธิการได้ทำการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ โดยในกรณีร้ายแรงจะส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ดี หากสมาชิกรัฐสภาได้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศนอกรัฐสภาก็จะต้องนำกรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการโดยไม่ชักช้าเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภาทุกคนควรตระหนักว่าจริยธรรมต้องอยู่เหนือกฎหมาย สำหรับสถานการณ์ของสตรีที่จะตัดสินใจอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อในรัฐสภานั้น คำตอบอาจเห็นได้จากตัวเลขของสมาชิกรัฐสภาสตรีที่เพิ่มขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการเลือกตั้งครั้งก่อนร้อยละ 3
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน