กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
.
วันที่ 21 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดย นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการลงพื้นที่ติดตามการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการถ่ายโอน 100% ทั้งนี้ รพ.สต.โนนฆ้อง ถ่ายโอนภารกิจมายัง อบจ. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 เป็นพื้นที่กึ่งเมือง/ชนบท มีจัดและให้บริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมในทุกกลุ่มวัย และมีการขับเคลื่อนงาน อสม. ที่เป็นนวัตกรรมเฉพาะพื้นที่ คือ อสม. COC โดยมีจำนวน 20 คน ซึ่งเป็นบุคลากรที่ได้รับการอบรม เพื่อให้มีศักยภาพในการสนับสนุนงานหัตถการของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ รวมทั้งดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมี อ.ส.ค. หรืออาสาสมัครประจำครอบครัว จำนวน 22 คน ร่วมดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ประสานงานด้านสาธารณสุข และดูแลผู้ป่วย NCD ซึ่งเป็นการทำงานด้วยจิดอาสา เพื่อคนในชุมชน ดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ญาติ คนในขุมชน ประสานงานระหว่าง อสม. และชุนชุมชน เมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ การประสานงานที่รวดเร็วจะทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น
.
สำหรับประเด็นปัญหาอุปสรรคหลังการถ่ายโอนฯ คือ การขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะสายวิชาชีพ เช่น พยาบาล โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลบ้านฝางในการส่งพยาบาลมาช่วยปฏิบัติงานในชุมชนร่วมกับ รพ.สต. จึงเป็นการดูแลซึ่งกันและกัน และประชาชนได้รับบริการมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านขวัญกำลังใจของบุคลากร และความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ ตลอดจนปัญหาภาระงานเอกสารและการลงข้อมูลที่มีจำนวนมาก ส่งผลต่อการให้บริการดูแลประชาชน
.
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีข้อห่วงใย รวมถึงข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในประเด็นเกี่ยวกับภาระงานเอกสาร และการลงระบบข้อมูลต่าง ๆ ที่มีทั้งข้อมูลที่ทำให้ได้มาซึ่งงบประมาณ และการลงข้อมูลที่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ส่งผลต่อคุณภาพงานสาธารณสุข การดำเนินการดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการนิเทศงานในระยะต่อไป กองสาธารณสุขของ อบจ. ต้องจัดสรรให้มีบุคลากรที่เพียงพอต่อการนิเทศงานในอนาคต ซึ่งในช่วงนี้ สสอ. อาจต้องช่วยดำเนินการเรื่องดังกล่าวไปก่อน เนื่องจากระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการมีข้อกังวลเรื่องคุณภาพงาน จึงขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประสานงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้งานด้านสาธารณสุขเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ รพ.สต.โนนฆ้อง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีข้อกังวลเรื่องปฐมภูมิ แต่หลายพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขยังคงต้องดูแลจนกว่าจะมีแพทย์มาประจำ ซึ่ง อบจ. ไม่สามารถหาแพทย์ได้โดยเร็วในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ รพ.สต. ยังต้องปฏิบัติงานอื่นอีกหลายเรื่อง เช่น งานยาเสพติด แต่พื้นที่นี้ก็สามารถดำเนินงานได้ดี ดังนั้น เมื่อมีภาระงานมาก ในข้อเท็จจริงก็ควรมีสัดส่วนบุคลากรที่เหมาะสมกับภาระงาน ทั้งงานเอกสารและการปฏิบัติ ซึ่งควรมีการหารือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ อบจ. เพื่อการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ที่ทีประสิทธิภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาในทุกด้านได้อย่างรวดเร็ว
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน