กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา ติดตามการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
วันที่ 20 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขามป้อม และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนม่วง จังหวัดขอนแก่น คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดย นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการลงพื้นที่ติดตามการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. โดยมีผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ผู้บริหารของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ตลอดจนคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมทั้ง อสม. ในพื้นที่ เข้าร่วม
.
โดยคณะฯ ได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีการถ่ายโอน 100% คือ รพ.สต. ทั้งหมดจำนวน 248 แห่ง จึงเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการเรียนรู้ผลการปฏิบัติงานของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนภารกิจไปแล้ว โดยการจัดและให้บริการของ รพ.สต.ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีการขับเคลื่อนและดำเนินการที่ยังคงเป็นไปโดยปกติต่อเนื่องจากก่อนการถ่ายโอนฯ โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และโรงพยาบาลแม่ข่ายเป็นอย่างดีภายใต้หลักการเดียวกัน คือ การให้บริการประชาชนอย่างไร้รอยต่อ และมีประสิทธิภาพเช่นเดิม แม้ในระยะแรกอาจมีปัญหาในการดำเนินการแต่ด้วยจิตวิญญาณของบุคลากรสาธารณสุข และทุกภาคส่วนจึงทำให้การดำเนินการภารกิจในการให้บริการแก่ประชาชนไม่มีปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการจัดและให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ แต่ทั้งนี้การดำเนินงานในระยะต่อไป ต้องการให้มีความชัดเจนในระดับนโยบาย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ เพื่อให้มีความชัดเจนทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ งบประมาณ และบุคลากร เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากร และ รพ.สต. สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัญหาอุปสรรคภายหลังการถ่ายโอนฯ ที่สำคัญ คือ การกระจายกำลังคน ซึ่งควรมีแผนการผลิตและมีการจัดสรรที่เหมาะสม และการจัดสรรงบประมาณ ควรจัดสรรงบประมาณตามความเป็นจริงและเป็นธรรม รวมถึงควรมีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบที่ไม่คล่องตัว
.
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีข้อห่วงใยในประเด็นความพอเพียงของบุคลากรสาธารณสุข และประเด็นความเท่าเทียมของการจัดสรรงบประมาณของสำนักงบประมาณ ซึ่งทำให้ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนฯ และไม่ถ่ายโอนฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งในข้อเท็จจริงควรจัดสรรอย่างเท่าเทียมเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ รพ.สต.ทุกแห่ง เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงมีข้อห่วงใยในประเด็นการส่งต่อและการตามจ่ายงบประมาณ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการ การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จึงทำความตกลงด้านงบประมาณเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ รวมถึงประเด็นความเชื่อมโยงด้านระบบข้อมูลสุขภาพที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้ว่า เมื่อถ่ายโอนฯ แล้วภารกิจด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่เป็นไปในทิศทางใด ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และโรค NCDs ลดลงหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากเป็นโอกาสดีที่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนฯ และสังกัด อบจ. จะสามารถออกแบบรูปแบบการส่งเสริมป้องกันโรคได้เอง นอกจากนี้ ประเด็นการส่งเสริมด้านวิชาการและองค์ความรู้ และการกำกับติดตามนิเทศงานแก่ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนฯ เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพเช่นเดิม ตลอดจนการขับเคลื่อนระบบริการปฐมภูมิ ที่ทุกฝ่ายควรสนับสนุนเพื่อให้การจัดบริการปฐมภูมิเป็นรากฐานของการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม เกิดเป็นความยั่งยืนด้านสุขภาพในระยะยาว
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน