สมาชิกรัฐสภา ร่วมเสวนาออนไลน์ของสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา
วันที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 20.00 นาฬิกา นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา และนายภัณฑิล น่วมเจิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมเสวนาออนไลน์ของสหภาพรัฐสภาเรื่อง หลักการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา : สนับสนุนสมาชิกรัฐสภาที่ตกอยู่ในภยันตราย (Parliamentary solidarity : Supporting MPs under threat) ผ่านระบบ Zoom กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อย้ำประกันแนวทางการดำเนินการของคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (The IPU Committee on the Human Rights of Parliamentarians : CHRP) ซึ่งมีหน้าที่คอยติดตาม หาแนวทางแก้ไข และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา ตามหลักการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (Parliamentary solidarity) โดย Ms. Millie Odhiambo ในฐานะรองประธานคณะ CHRP ได้กล่าวเปิดอภิปรายมุ่งเน้นที่บทบาทของ CPRH ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2519 ทั้งเห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาถือว่าเป็นการละเมิดสถาบันนิติบัญญัติด้วยเช่นกัน จากนั้นเป็นการนำเสนอของ Mr. Boris Mijatovic สมาชิกรัฐสภาเยอรมนี ซึ่งได้ให้ภาพรวมกิจกรรมที่รัฐสภาเยอรมนีดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ได้แก่ โครงการสมาชิกรัฐสภาปกป้องสมาชิกรัฐสภา (Parliamentarians Protect Parliamentarians) ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2546 ปัจจุบันมีสมาชิกรัฐสภาเยอรมนีกว่า 90 คน ที่เป็นตัวแทนจากหลากหลายพรรคและกลุ่มการเมืองในรัฐสภา สนับสนุนสมาชิกรัฐสภาจำนวนราว 200 คน ที่ถูกคุกคามและข่มเหงรังแก รวมทั้งนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน จาก 43 ประเทศทั่วโลก ต่อมา Ms. Anita Vandenbeld สมาชิกรัฐสภาแคนาดา ในฐานะสมาชิกสมาชิกรัฐสภาเพื่อการปฏิบัติระดับโลก (Parliamentary for Global Action : PGA)
ได้แนะนำโครงการทีมตอบสนองเร็วของรัฐสภา (Parliamentary Rapid Response Team : PARRT) ซึ่งเน้นไปที่การตอบสนองผ่านการออกแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา และ Ms. Sarah Jane Elago อดีตสมาชิกรัฐสภาฟิลิปปินส์ ซึ่งประสบกับการละเมิดโดยตรง เนื่องด้วยเคยแสดงบทบาทคัดค้านนโยบายของประธานาธิบดี โดยทางการฟิลิปปินส์ได้ประกาศต่อสาธารณะว่า Ms. Elago ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีดำของผู้ก่อการร้ายจึงทำให้เธอตกอยู่ในความไม่ปลอดภัยอย่างมาก
.
ทั้งนี้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์รัฐประหารในตูนีเซียและวิกฤติการณ์ในอัฟกานิสถาน ขณะที่ อดีตสมาชิกรัฐสภาเมียนมาได้แสดงความเห็นว่านับแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2564 มีสมาชิกรัฐสภาเมียนมา จำนวน 85 คน ถูกจับกุม โดยในจำนวนดังกล่าว มี 3 คนที่เสียชีวิตในระหว่างการจับกุม และมีสมาชิกรัฐสภาเมียนมา จำนวน 17 คน ซึ่งเสียชีวิตในช่วงที่รัฐบาลทหารไล่ล่าพวกเขา พร้อมทั้งเสนอให้สหภาพรัฐสภาจัด Webinar เฉพาะเรื่องเมียนมา ทั้งนี้ ผู้แทนกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights : APHR) ได้เสริมโดยเห็นว่าในกรณีของเมียนมานั้น ประชาคม IPU จะต้องพิจารณาว่าควรต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อหยิบยื่นความช่วยเหลือและสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมาด้วย
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน