รายงาน : บดินทร์ ศรเกษตรรินทร์
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสุเชาว์ ทูโมสิก นายอำเภอพนม และนายบุญเรือง หลงละลวด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ไปตรวจดูความเสียหายจากฝนตกหนักและเกิดกระแสน้ำป่าไหลแรงเมื่อเย็นวันที่ 1 ก.ย.66 ทำให้ถนนซอยอุทยาน หมู่ที่ 6 ต.คลองศก อ.พนม ติดกับ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมของชาวต่างชาติ มีโรงแรม-รีสอร์ท ประมาณ 20 ราย และบ้านเรือนประชาชนกว่า 50 ครัวเรือน
จากการตรวจสอบพบสภาพถนนและที่ดินของชาวบ้านถูกกระแสน้ำกัดเซาะลึกเข้ามาประมาณ 5 เมตร เป็นทางยาวกว่า 300 เมตร เบื้องต้นได้ติดตั้งป้ายเตือนผู้ที่สัญจรไปมาให้ใช้ความระมัดระวัง ส่วนแนวทางแก้ไขได้มีการสำรวจออกแบบจัดทำเขื่อนป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่งโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณ
จากนั้นไปยังบ้านสองพี่น้อง หมู่ที่ 1 ต.คลองศก อ.พนม ติดตามสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งท่วมถนนทางเข้าหมู่บ้านมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน ประมาณ 60 ครัวเรือน กว่า 150 คน ตกอยู่ในสภาพติดเกาะ เนื่องจากถนนทางเข้าออกหมู่บ้านทุกทางถูกน้ำท่วมกว่า 50 เซนติเมตร ต้องเดินลุยน้ำและบางจุดใช้เรือเข้าไป
นายวิชวุทย์ กล่าวว่า จุดถนนซอยอุทยานคลอง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญได้เตรียมทำหนังสือขอให้เป็นโครงการเร่งด่วน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว และอาจจะเกิดอันตรายกับประชาชนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยว และที่บ้านสองพี่น้องได้มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกแบบการยกระดับถนนให้สูงขึ้นเท่าระดับของสะพาน คาดว่าจะดำเนินการได้เร็วเนื่องจากมีระยะทางประมาณ 40 เมตร ใช้งบประมาณไม่สูงมาก แต่จะเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ใช้สัญจรไปมาในช่วงน้ำท่วมได้
ข่าวแจ้งว่า ส่วนพื้นที่หมู่ที่ 4 ต.คลองศก อ.พนม มีครัวเรือนได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากน้ำล้นตลิ่ง ประมาณ 20 หลังคาเรือน มีผู้ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 50-60 คน ส่วนใหญ่มีความพร้อมรับมือกับน้ำหลาก เนื่องจากอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำและมีน้ำท่วมเป็นประจำ ซึ่งนายวิชวุทย์ได้เยี่ยมให้กำลังใจพร้อมกับมอบถุงยังชีพและน้ำดื่ม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานล่าสุดว่าจะมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 6 กันยายน 2566 ขอให้ชาวบ้านพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมตัวรับมือด้วย.