ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ยัน ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์-สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ไม่เคยแจ้งการตัดไม้พะยูงให้ทราบในลักษณะนี้ และยังไม่เคยรายงานบอกเหตุผลการตัดไม้พะยูง ด้านแหล่งข่าวความมั่นคง เผยผลสอบคู่ขนานที่โรงเรียนคำไฮวิทยาคม อ.หนองกุงศรี ประมูลไม้ 22 ต้น พ่อค้าไม้ยืนยันชำระเก้าแสนกว่าบาท ไม่ใช่ชำระตามใบเสร็จแค่ 153,000 บาท พร้อมมาให้การกับฝ่ายความมั่นคงเพราะกลัวความผิด ขณะที่แหล่งข่าวระบุพบเอกสาร ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2560 ระบุชัดการตัดไม้มีค่าในที่ราชพัสดุ ต้องแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกครั้ง แต่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ไม่ได้ดำเนินการตามหนังสือสั่งการฉบับนี้แต่อย่างใด อีกทั้งไม่เคยรายงานตามการปฏิบัติตามหนังสือสั่งการนี้และไม่เคยแจ้งให้จังหวัดทราบเลยแม้แต่ครั้งเดียวถือเป็นความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริตฯ อีกทั้งยังพบว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปวัดไม้ตามโรงเรียนเพื่อตัดประมูลขายซะเอง
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา การตรวจสอบมีบุคคลของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง 8 ราย และยังมีปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ที่ให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ราคา 153,000 บาท ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาตลาด 28-56 เท่าตัว โดยเรื่องนี้ จังหวัดได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.- ส.ต.ง.-ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ล่าสุด ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งคณะไต่สวนจัดชุดใหญ่ ตรวจสำนวนตำรวจ ขณะที่ชาวบ้านที่รักษ์ผืนป่าทยอยส่งหลักฐาน การประมูลไม้พะยูงขายหลายแห่งโดยปรากฏ ที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก และที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ที่ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยถึงปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงว่าที่ผ่านมาธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ไม่เคยรับรายงานเกี่ยวกับการประมูลไม้หวงห้ามหรือไม้พะยูงมาทางจังหวัดแต่อย่างใด เนื่องจากการอนุญาตเป็นของธนารักษ์ฯ ในส่วนที่ทางจังหวัดทราบก็ในเรื่องของเทศบาลตำบลอิตื้อที่มีไม้พะยูงของกลางหาย ซึ่งเรื่องนี้พี่น้องประชาชนได้ส่งข้อมูลมา การตัดไม้ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ทราบจากสื่อมวลชนและประชาชนว่ามีการตัดไม้พะยูงเป็นจำนวนมาก จึงได้ให้ทีมเฉพาะกิจ ที่มอบหมายให้ นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เข้าตรวจสอบโดยมี นำทีมปกครอง ฝ่ายสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ดำรงธรรม ตรวจสอบพบว่าการกระทำนั้นไม่เข้าหลักเกณฑ์การขออนุญาตตัด เพราะต้นไม้พะยูงอยู่ในป่าของโรงเรียน ไม่ได้อยู่อยู่ใกล้อาคารเรียน จึงเข้าตรวจสอบ และขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ปปท.เขต 4 ขอนแก่น ได้ลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว จึงเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการกันไปตามขั้นตอนของกฎหมาย พร้อมกับการสืบสวนแบบคู่ขนานกันไปเพื่อรวมหลักฐาน
“ในส่วนของจังหวัดก็ได้มีการประชุมกรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ ผู้กำกับทุกสถานี โดยได้กำชับให้มีการดูแล จัดทำทะเบียน ไม้พะยูง ไม้ประดู่ ที่อยู่ในสถานศึกษา โรงเรียน วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบล หรือป่าไม้ชุมชน แล้วรายงานเป็นข้อมูล และให้จัดเวรยามรักษาการ เนื่องจากสถานการณ์ทุกวันนี้ ยังมีผู้ลักลอบตัดไม้พะยูงเป็นจำนวนมาก ก็จะให้มีการเข้าเวรยาม และมีการวิทยุไปทุกอำเภอเพื่อให้มีการประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในการที่จะตัดไม้ ก็ขอให้มีการพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นกัน”
ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวต่อว่า สำหรับไม้พะยูงหายที่เทศบาลตำบลอิตื้อนั้น ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์แจ้งว่ามีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีการแจ้งความดำเนินคดีเท่านั้น โดยมีรายงานเบื้องต้นมาวันที่ 21 ส.ค.66ที่ผ่านมา ส่วนการตัดไม้ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา ก็ได้รายงานขั้นตอนต่างๆมาให้ทราบเบื้องต้น ส่วนรายละเอียดการประมูลต่างๆยังไม่รายงานรายละเอียดเข้ามา ส่วนนี้น่าจะเป็นของทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการประเมินในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ในอำนาจของ ปปท. ที่จะต้องดำเนินการสอบสวนต่อไป ส่วนตนก็จะกำชับ นายอำเภอ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน ช่วยกันรักษาและตรวจสอบ หากพบเห็นการตัดต้นไม้ หรือการที่จะมีผู้มาติดต่อซื้อไม้ ก็ให้แจ้งฝ่ายปกครองทันที เพื่อที่จะได้เข้าไปตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้เกิดขึ้น
“ส่วนการขออนุญาตตัดไม้ในช่วงนี้ก็ขอให้ชะลอ และห้ามไม่ให้มีการประมูลไม้ หากธนารักษ์จะมีการประมูลขอให้แจ้งเข้ามายังจังหวัดเพื่อที่ทางจังหวัดจะได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัด อย่างศูนย์ดำรงธรรม อำเภอ ฝ่ายปกครอง ร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ยังไม่มีรายงานชี้แจงเข้ามาแต่อย่างใด” ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวในที่สุด
ด้านแหล่งข่าวด้านความมั่นคง กล่าวว่า การทำงานขณะนี้นอกจากจังหวัดจะมีทีมเฉพาะกิจนำโดยนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ การเก็บรวบรวมหลักฐาน ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าว กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ และชุดเฉพาะกิจ ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการเก็บหลักฐานการร้องเรียนจากประชาชน ในการเกาะร่องรอยตัดไม้พะยูงที่อยู่ในพื้นที่หลวงเป็นของแผ่นดิน ในกรณีโรงเรียนคำไฮวิทยาคม อ.หนองกุงศรี ประมูลขายไป 22 ต้น 2 ตอ ราคา 153,000 บาท เบื้องต้นชัดเจนว่า ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ – สพป.เขต 2 ฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งห้ามตัดไม้พะยูงทั้งนี้พ่อค้าไม้พะยูงยืนยันว่าได้ชำระเงินซื้อไม้พะยูงจากโรงเรียนคำไฮวิทยาคม เป็นเงิน เก้าแสนกว่าบาท ไม่ใช่จำนวนเงินที่ระบุไว้ในใบเสร็จ 153,000 บาท และพร้อมที่จะเข้ามาให้การกับฝ่ายความมั่นคงเนื่องจากเกรงกลัวความผิด
“นอกจากนี้แหล่งข่าวระบุว่า พบเอกสารสำคัญ ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ กค.0305/ว20 ของ กรมธนารักษ์ เป็นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เรื่องการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุ เนื้อหาระบุชัดถึงความต้องการของกรมธนารักษ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามนโยบายของรัฐบาล โดยอธิบายเหตุผลการตัดไม้มีค่าในที่ราชพัสดุ ต้องหลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ใหญ่และห้ามดำเนินการ ในที่ราชพัสดุที่มีสภาพเป็นป่าไม้หนาแน่น ยกเว้นในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น กีดขวางการใช้พื้นที่เพื่อปลูกสร้างอาคารหรือกีดขวางสายไฟฟ้าหรืออาจโค่นล้มจนเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือเป็นการตัดแต่งต้นไม้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสวยงาม ซ้ำเอกสารยังระบุด้วยว่า การตัดหากมีเหตุผลความจำเป็นต้องตัดโค่นไม้หรือป่าไม้นอกเหนือจากกรณีดังกล่าวให้รวบรวมรายละเอียดข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเหตุผลความจำเป็น โดยเปรียบเทียบผลดีและผลเสียในการดำเนินการพร้อมทั้งความเห็นที่เกี่ยวข้องให้กรมธนารักษ์พิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป ทั้งนี้เนื้อหาโดยรวมหากธนารักษ์พื้นที่ใด ต้องการดำเนินการตัดไม้มีค่าก็จะต้องแจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทราบทุกครั้ง แต่การตัดต้นไม้มีค่าตามโรงเรียน ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ไม่ได้ดำเนินการตามหนังสือสั่งการฉบับนี้แต่อย่างใด อีกทั้งไม่เคยรายงานตามการปฏิบัติตามหนังสือสั่งการนี้และไม่เคยแจ้งให้จังหวัดทราบเลยแม้แต่ครั้งเดียวถือเป็นความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริตฯ อีกทั้งยังพบว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปวัดไม้ตามโรงเรียนเพื่อตัดประมูลขายซะเองอีกด้วย”
แหล่งความด้านความมั่นคง กล่าวต่อว่า วิธีการแก้ไขให้ตรงจุด กระทรวงการคลัง โดยอธิบดีกรมธนารักษ์ ควรออกมาอธิบายเกี่ยวกับปัญหานี้โดยเฉพาะ คำกล่าวอ้างของ ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ที่แจ้งในที่ประชุมจังหวัดว่าทำถูกต้องและได้แจ้งต้นสังกัดไปแล้ว ว่า ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ได้รายงานข้อเท็จจริงไปอย่างไรหรือ กรมธนารักษ์ ได้อนุญาตให้ตัดเอง หรือธนารักษ์สามรถสั่งตัดไม้มีค่าได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทางจังหวัดทราบ เพราะวันนี้ชาวบ้านต้องการรู้ข้อเท็จจริง “ต้องอธิบายหนังสือสั่งการให้ชัดเจน เกี่ยวกับอำนาจในพื้นที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ ที่ดูแลในแต่ละจังหวัด รวมถึงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการขาย ประมูล ทรัพย์สินที่ธนารักษ์ดูแล หรือวิธีการทำประโยชน์ในพื้นที่อย่างไร “การให้ราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดของการประมูลไม้พะยูง มีเหตุผลอย่างไร” หลักการขายไม้พะยูง-ประมูล มีหลักเกณฑ์ของธนารักษ์อย่างไร อีกทั้งเหตุผลในการตัดต้นไม้ ว่าเป็นเพราะอะไร ติดอาคารเรียน สร้างถนน เป็นภัยคุกคามต่อนักเรียน ชาวบ้านหรือผู้ใช้อาคารอย่างไร หรือจะให้เหตุผลว่าต้องการตัดไม้พะยูงขายเพื่อนำเงินเข้าแผ่นดินก็ต้องอธิบายมาว่าคุ้มค่าอย่างไร โดยเฉพาะกรณีโรงเรียนคำไฮวิทยาคม อ.หนองกุงศรี และที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก แค่เหตุที่จะใช้ตัดก็ไม่ผ่านแล้ว เพราะทั้งสองแห่ง อาคารเรียนหากจากป่าต้นพะยูงมากเกือบ 80 เมตร พื้นที่ต้นไม้ก็ไม่ติดอาคาร แต่ก็ยังมาตัดแถมตัดรีบๆวันเดียวเสร็จ เก็บขนส่งนายทุน
“เหตุการณ์ที่โรงเรียนคำไฮวิทยาคม ชาวบ้าน ครู นักเรียน ศิษย์เก่า คนในชุมชนเค้ารู้สึกเจ็บปวดกับการกระทำนี้เป็นอย่างมาก เป็นการกระทำที่เหิมเกริมฝ่าฝืนคำสั่งของทางจังหวัด ทำร้ายจิตใจพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งที่เป็นป่าต้นพะยูงที่สวยงาม แต่ละต้นอายุกว่า 50 ปี ซึ่งถือว่าต้นพะยูงกำลังเป็นสาว และจะมีเมล็ดพันธุ์ที่ส่งต่อไปยังชาวบ้านได้นำมาปลูกต่อไป ไม่ใช่ต้นไม้ใกล้ตาย อีกทั้งยังเป็นร่มเงาให้กับนักเรียนที่เข้าไปศึกษาธรรมชาติ ก็คงจะไม่มีแล้ว หากจะให้โตทันใช้ก็คงต้องรออีก 50-100 ปี จึงต้องการเสนอให้ทางกรมธนารักษ์ พิจารณาเพื่อออกคำสั่งให้ ธนารักษ์พื้นที่ทุกจังหวัดหยุดพฤติกรรมนี้ก่อนที่ป่าไม้พะยูงจะหมดไปจากประเทศไทย เป็นไปได้จึงขอเสนอกรณีไม้หาย ปกติสถานที่ราชการต้องมีเวรยาม ดังนั้นถ้าไม้พะยูงหายหรือสิ่งของราชการหายต้องตั้งกรรมการสอบเวรยาม เพราะตามระเบียบราชการสถานที่ราชการทุกแห่งจะต้องมีเวรยามทุกวัน เมื่อไม้พะยูงหรือของราชการจะหายกลางคืน ก็ควรที่จะต้องตั้งกรรมสอบว่าได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือไม่ทุกราย” แหล่งข่าวกล่าวฯ
รายงานแจ้งว่า ขณะนี้มีทีมข่าวส่วนกลางทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ลงพื้นที่กาฬสินธุ์ร่วมเกาะติดข่าวปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนไปขาย โดยพยามเข้าสอบถามหน่วยงานสำคัญคือธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา เขต 2 เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงในการซื้อขายและรวมถึงการขายไม้พะยูงตามโรงเรียนย้อนหลังตั้งแต่ปี 2566 ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้สองหน่วยงานยังไม่มีใครให้ข้อมูล มีเพียงอธิบดีกรมป่าไม้ สั่งย้ายข้าราชการที่พัวพันในคดี และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งนายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านในพื้นที่จึงวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องให้ อธิบดีกรมธนารักษ์ และโดยเฉพาะ เลขาฯสพฐ.กระทรวงศึกษาธิการ ออกมาตอบสังคมเพื่อความกระจ่าง รวมถึง องค์กร อิสระ ปปช.- ปปท.- สตง. ชาวบ้านวิงวอนให้เร่งติดตามเอาผิดในเรื่องนี้ด้วย