ศูนย์ฝนหลวงฯ ภาคเหนือ สาธิตการทำฝนเมฆอุ่นให้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ
ถ่ายทอดศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาการทำฝนในระดับอาเซียนไปสู่สากล
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2561 ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศของอาเซียนภายใน 10 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จัดประชุมระหว่างวันที่ 6 – 9 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ รวมทั้งการศึกษาดูงานด้านการปฏิบัติการฝนหลวง ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 8 สิงหาคม 2561 คณะผู้เข้าร่วมการประชุม“ASEAN Workshop on Weather Modification 2018” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศ อุตุนิยมวิทยาจากต่างประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ได้เข้าศึกษาและร่วมสังเกตการณ์ดูงานด้านการปฏิบัติการฝนหลวง ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เข้าศึกษาดูงานและร่วมรับฟังบรรยายสรุป ณ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ ได้นำคณะผู้เข้าร่วมการประชุมเข้าศึกษาและร่วมสังเกตการณ์การปฏิบัติการทำฝน ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติการในพื้นที่ 15 จังหวัดทางภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์ โดยปฏิบัติงานช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตร ป่าไม้ เขื่อนเก็บกักน้ำ บรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า การเกิดพายุลูกเห็บ ตลอดจนภัยแล้งและภัยพิบัติอื่นๆ ในพื้นที่ที่เกิดขึ้น โดยกระบวนการดำเนินงานเหล่านี้ ได้ดำเนินตามศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเน้นถึงความจำเป็นในด้านพัฒนาการและการดำเนินการปรับปรุงวิธีการทำฝนในแนวทางของการออกแบบปฏิบัติการ การติดตามและการประเมินผลที่มีลักษณะเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น โดยการดัดแปรสภาพอากาศหรือการทำฝนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่งในกระบวนการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงวิเคราะห์กรรมวิธีที่จะทำฝนหลวงว่ามีขั้นตอนที่สามารถเข้าใจกันได้ง่าย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน และขั้นตอนที่ 3 โจมตี
สำหรับในวันที่ 9 สิงหาคม 2561 คณะศึกษาดูงานจะได้เข้าเยี่ยมชมจัดตั้งศูนย์การศึกษาการพัฒนา ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำรัสจัดตั้งศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นศูนย์การศึกษาทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป โดยศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง 3 วิธี เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง คือ มีไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำตลอดจน ความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์อย่างที่ 4 และพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก โดยต้นทางเป็นการศึกษาและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ซึ่งการจัดการดังกล่าวจึงเป็นการช่วยสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสการเกิดฝน และปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และโคนม รวมทั้งเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรในระยะยาวที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ และนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไปดังพระราชดำรัสว่า “ให้ศูนย์ศึกษาพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย
*******************************
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
9 สิงหาคม 2561!! ขอขอบคุณ@สะมะบัติ เอื้อเฟื้อข้อมูลภาพ/ข่าวสาร