แม่ทัพภาคที่ 3 ต้อนรับ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประชุมเพื่อประเมินการจัดโครงการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน.. โชว์!!! ระบบทำงาน Cloud Server ศูนย์รวมข้อมูลดำเนินภารกิจ
นาย ดนัย มู่สา รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเพื่อประเมินการจัดโครงการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยมี พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์ปฎิบัติการกองทัพภาคที่ 3/ประธานกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของชาติในระดับพื้นที่ในเขตกองทัพภาคที่ 3 ให้การต้อนรับ และ พลตรี จิรเดช กมลเพ็ชร รองแม่ทัพภาคที่ 3 ร่วมการประชุม และเยี่ยมชมการจัดแสดง โครงสร้างการบริหารจัดการ และ ผลการปฏิบัติงานการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของกองทัพภาคที่ 3 ในห้วงที่ผ่านมา อาทิ โครงการ ยักษ์เขียวกินฝุ่น…..ยักษ์ขาววัดฝุ่น….. และ ระบบทำงาน Cloud Server ฐานข้อมูลเพื่อปฏิบัติภารกิจต่างๆ เป็นต้น มี พันเอก สุวัฒน์ เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือนกองทัพภาคที่ 3 ร่วมให้การต้อนรับพันโท กตัญญู หงษ์โต ผู้ช่วยนายทหารฝ่ายกิจการพลเรือนกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้ให้ข้อมูล ฯ ณ ห้อง 202 สโมสรบันเทิงทัพ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันอังคารที่ 24 กันยายน 2562
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 3/ศูนย์ปฎิบัติการกองทัพภาคที่ 3/สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของชาติในระดับพื้นที่ในเขตกองทัพภาคที่ 3 จัดประชุมเพื่อประเมินการจัดโครงการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน การหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาการจัดทำโครงการดังกล่าว มีที่มาจากข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดในภาคเหนือ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 โดยมอบหมายให้ กองทัพภาคที่ 3 ในฐานะฝ่ายเลขานุการของโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของชาติในระดับพื้นที่ในเขตกองทัพภาคที่ 3 (พมพ.ทภ.3 ) ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่ฯ ในระดับภาคพิจารณาจัดทำโครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อ
เสริมความมั่นคงของชาติ (พ.ศ. 2561 – 2565) ที่มุ่งเน้นการป้องกัน แก้ไข และลดเงื่อนไขของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง รวมทั้งพัฒนาคนและชุมชนในพื้นที่เป้าหมายที่มีความเสี่ยงทางความมั่นคง โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการกระบวนการด้านเศรษฐกิจ สังคม และการป้องกันประเทศ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนและชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย
กองทัพภาคที่ 3 ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และได้เริ่มขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยเฉพาะเมื่อห้วงปลายเดือนที่ผ่านมา ได้จัดการประชุม พมพ.ทภ.3 ขึ้น เพื่อหารือกับหน่วยงานในพื้นที่เขตรับผิดชอบในการวิเคราะห์สภาพปัญหา การรายงานสถานการณ์และแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์หมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ดังนั้น การประชุมหารือร่วมกันในครั้งนี้คงมีประเด็นที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และข้อคิดเห็นร่วมกันในเชิงลึกมากขึ้นต่อแนวทางการจัดทำโครงการ พมพ. ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งทาง สมช. ให้ความสำคัญต่อประเด็นหมอกควันและไฟป่าเป็นอย่างมาก โดยพิจารณาว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในวงกว้าง จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน และเรื่องนี้อาจเป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้ อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า สถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือมีมานานแล้ว และแผนการพัฒนาพื้นที่ฯ ก็ได้ระบุเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไว้เป็นกลยุทธ์เฉพาะอย่างชัดเจนในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างฐานความมั่นคงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อความสมดุลมั่นคงอย่างไรก็ตามยังไม่มีโครงการที่จะบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในพื้นที่แบบองค์รวม ทั้งในเรื่องการวางแผน และกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนในระยะยาวที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ที่มีจุดความร้อนสูง เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่ได้รับผลกระทบจากการเผาในที่โล่ง การขับเคลื่อนโครงการ พมพ. ในเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จมากขึ้น หากมีภาควิชาการและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อจะได้รับข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ และอาจนำมาเป็นแนวทางการจัดทำโครงการ พมพ. ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ถูกทาง ควรมุ่งเน้นไปที่คนในพื้นที่ ปัจจัยทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
แต่การพัฒนาความเป็นอยู่ของคน เป็นสิ่งที่สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ คง
จะได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และข้อคิดเห็นร่วมกันต่อแนวทางการจัดทำโครงการ พมพ. ในมุม
มอง 3 ประเด็นหลัก คือ
-สถานการณ์ปัญหาปัญหาหมอกควันและไฟป่าในที่ภาคเหนือตอนบน
– แนวทางการประเมินความเสี่ยงและแนวโน้มความรุนแรงของปัญหา
– ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเพิ่มเติม ทั้งในเรื่องปัญหาและอุปสรรค แนวทางการดำเนินงาน และหน่วยงานรับผิดชอบ