โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย วางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ และวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อปรับระบบการทำการเกษตรให้เป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และตลาดฯ ที่บ้านห้วยน้ำใส อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
“ลดไร่หมุนเวียน ปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คู่วิถีคนอยู่ร่วมกับป่า”
“เราจะทำให้ประเทศไทยกลับมีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นได้ ขออย่าไปรังแกป่าเท่านั้นเอง”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ณ ศาลาดุสิดาลัย 4 ธันวาคม 2537
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เห็นได้ว่า ท่านทรงห่วงใยเอาใจใส่เกี่ยวกับป่าไม้ต้นไม้ ทรงตระหนักว่าป่าไม้นั้นมีความสำคัญต่อประเทศชาติเพียงใด โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงวางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ และวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อปรับระบบการทำการเกษตรให้เป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และตลาด โดยการลดพื้นที่การเกษตรให้น้อยลง แต่เพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อหน่วยมากขึ้น จากการนำองค์ความรู้ในการทำการเกษตรแต่ละสาขามาใช้ประโยชน์ ภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของ “สหสาขา” หรือ Project team
วิถีของเกษตรกรบ้านห้วยน้ำใส อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่สำหรับหมุนเวียนในการทำเกษตรไม่น้อยกว่า 3-4 แปลงต่อครัวเรือน ซึ่งในแต่ละปีเกษตรกรจะต้องตัดถางและเผาเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ (ความต้องการบริโภคข้าวของเกษตรกรต่อ 1 ครัวเรือน ประมาณ 150 ถัง คิดเป็นมูลค่า 15,000 บาท) ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรลดหรือเลิกการทำไร่หมุนเวียน จึงต้องสร้างรายได้ให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรก่อน
จากแผนชุมชน สิ่งที่เกษตรกรบ้านห้วยน้ำใสมีความต้องการมากที่สุด คือการพัฒนาแหล่งน้ำชลประทานบนพื้นที่สูง เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร ให้มีความเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ ชุมชนยินดีที่จะคืนพื้นที่ไร่หมุนเวียน จำนวน 966 ไร่ (โซน D) จากพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 2,868 ไร่ เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเป็นพื้นที่ป่า
ไม้ผลถูกนำมาเป็นพืชทดแทนการปลูกข้าวไร่ เพื่อลดพื้นที่การทำไร่หมุนเวียน ซึ่งชนิดของไม้ผลที่สามารถตอบโจทย์ในการสร้างรายได้ในระยะสั้นและมีมูลค่าสูงได้แก่ เสาวรสหวาน แต่ปัญหาใหญ่สำหรับการส่งเสริมการปลูกเสาวรสหวาน คือแหล่งน้ำทางการเกษตร และพื้นดินที่ความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ เนื่องจากเสาวรสหวานเป็นพืชที่ต้องการน้ำตลอดอายุการปลูก และต้องการธาตุอาหารพืชที่มีความเหมาะสม
การนำแผนที่ดินรายแปลง มาเป็นเครื่องมือในการวางแผนระบบน้ำขนาดเล็ก และระบบชลประทานบนพื้นที่สูง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงานภาคีที่ร่วมบูรณาการในพื้นที่ สู่การวางแผนการส่งเสริมและกำหนดเป้าหมายพื้นที่รับผลประโยชน์ และแปลงของเกษตรกร เพื่อทดแทนพื้นที่ในการทำการเกษตรบนพื้นที่สูงที่อาศัยน้ำฝน ซึ่งมีพืชทางเลือกน้อยและทำลายสิ่งแวดล้อม
การส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยหมักจากฟางข้าว โดยการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีจำนวนมากในท้องถิ่น มาใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดินและปรับโครงสร้างของดินให้มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช โดยวิธีการใช้ร่วมกับใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก แทนการเผาทำลายตามวิถีดั้งเดิม
มะม่วงและอาโวคาโด เป็นไม้ผลยืนต้นชนิดแรกๆ ที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกภายใต้ค้างเสาวรสหวานร่วมกับการปลูกหญ้าแฝก หลังจากเก็บผลผลิตสร้างรายได้จากเสาวรสหวานได้ประมาณ 2 ปี (พื้นที่ 1 ไร่ 100 ต้น สร้างรายได้ประมาณ 1 แสนบาทต่อปี) ไม้ผลยืนต้นจะเจริญทดแทนพื้นที่ค้างเสาวรสหวาน และสามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป
เมื่อเกษตรกรมีอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง มีแหล่งน้ำจากความร่วมมือของหน่วยงานบูรณาการ และจากคนในพื้นที่เอง ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องไปทำการเกษตรในพื้นที่ห่างไกลและอาศัยน้ำฝน เพื่อทำไร่หมุนเวียน เมื่อไม่มีการตัดเผาทำลายป่า เมื่อนั้นป่าไม้ก็จะเกิดขึ้นมาเอง.
ทรงวุฒิ ทับทอง
ข้อมูล…โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย