ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ รุดตรวจอ่างเก็บน้ำแม่ออน ยืนยัน 100% อ่างไม่แตก ยังมั่นคงแข็งแรงดี ห่วงอ่างขนาดเล็กที่ถ่ายโอนให้ท้องถิ่นไปแล้วขอให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงด้วย
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น. นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายนวพล อาชญาทา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 โครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายศุภมิตร กฤษณมิตร หัวหน้าฝ่ายปลอดภัยเขื่อน สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้เดินทางมาตรวจสอบอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากมีสื่อโซเชียลนำมาลงและทำให้ชาวบ้านในพื้นที่กลัวอ่างเก็บน้ำจะแตก และจะได้ผลกระทบ ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า ตัวอ่างยังมีความมั่นคง ปลอดภัย และคลองระบายน้ำมีศักยภาพในการระบายน้ำ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 4.9 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 108% ของความจุ ซึ่งอ่างฯ สามารถรับได้ได้อีก 1 เมตร หรือคิดเป็นปริมาณน้ำ 670,000 ลูกบาศก์เมตร จึงจะถึงระดับเก็บกักสูงสุด โครงการชลประทานได้มีการระบายน้ำและผันน้ำสู่อ่างพวงเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนด้านท้ายน้ำ
นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ออน เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2529 ความจุ 4.5 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอ่างแม่ออนมีน้ำท่าเฉลี่ยที่ออกแบบไว้ 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี แต่เก็บน้ำได้เพียง 4.5 ล้าน ลบ.ม. โอกาสที่น้ำจะล้นจากสปิลเวย์ออกไปนั้นมีได้ ขณะนี้มีน้ำล้นจากสปิลเวย์ 12 ลบ.ม.ต่อวินาที น้ำที่ล้นจากสปิลเวย์นั้นลำห้วยและด้านท้ายน้ำยังสามารถรองรับน้ำได้อยู่ ไม่ได้ไปล้นสองฝั่งลำน้ำแต่อย่างใด สภาพความมั่นคงของเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรงดี มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 คอยเฝ้าระวังอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังมีอุปกรณ์วัดแรงดันน้ำของเขื่อนไว้ด้วย ก็ขอยืนยันกับพี่น้องชาวแม่ออนได้ว่า เขื่อนแห่งนี้ไม่มีการแตก และไม่มีการรั่ว ทางชลประทานเชียงใหม่ให้ความมั่นใจเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์
แต่มีความเป็นห่วงเรื่องอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่ได้โอนไปให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้ว ฝากเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกแห่งต้องเข้าไปดูว่าสภาพอ่างเก็บน้ำเป็นอย่างไร มีความมั่นคงหรือไม่ มีการรั่วซึมหรือไม่ มีดินสไลด์ ทางระบายน้ำล้นมีสิ่งกีดขวางหรือไม่ หากไม่ทราบในเชิงวิชาการก็สามารถขอความช่วยเหลือมาได้ที่สำนักงานชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน ถนนทุ่งโฮเต็ล ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปช่วยดูให้
ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้น้ำได้มีการวางกระสอบทรายให้สูงขึ้น 40 เซนติเมตร ด้านเหนืออาคารน้ำล้น เพื่อให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำได้ดำเนินการวางกระสอบทราย ก็มีฝนตก และมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณ 1.2 ล้าน ลบ.ม. ทำให้กระแสน้ำพัดพากระสอบทรายที่กั้นไว้ลงไปท้ายน้ำทั้งหมด ซึ่งการกั้นความสูง 40 เซนติเมตร นั้นไม่มีผลต่อการเก็บกักน้ำ ซึ่งทางเขื่อนมีระยะเก็บกักจนถึงสันเขื่อนประมาณ 3 เมตร บางเขื่อนก็มีการเสริมฝายพับได้ เสริมฝายยางบริเวณสปิลเวย์ ส่วนใหญ่ก็จะเก็บกักได้ประมาณ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ขนาดของตัวสปิลเวย์ที่ออกแบบไว้ ยืนยันว่าเขื่อนแม่ออนมีความมั่นคงแข็งแรง
สำหรับอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ก็มีที่อ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ ที่มีน้ำล้นสปิลเวย์ ก็ทำให้น้ำบางส่วนไปกัดเซาะร่องถนนของราษฎรที่อยู่ด้านท้ายน้ำ ขณะนี้น้ำก็เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนอ่างอื่นๆ ที่ล้นสปิลเวย์ก็อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ ภาพรวมของอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 13 แห่ง ก็มีน้ำเกือบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์หมดแล้ว เขื่อนขนาดใหญ่ ก็เหลือเพียงเขื่อนแม่กวงอุดมธาราที่ยังมีน้ำไม่เต็ม สถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดเชียงใหม่ ทางชลประทานฯ สามารถควบคุมในเขตชลประทานได้ หลังจากเสร็จสิ้นฤดูฝนแล้ว ประมาณ 1 ธ.ค. 66 ไม่เหมือนภาคกลางที่เริ่ม 1 พ.ย. 66 เพราะทางเชียงใหม่ยังมีปริมาณน้ำเข้าจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา วันที่ 1 ธ.ค. ก็จะรู้น้ำต้นทุนทั้งหมดแล้ว จากนั้นก็จะวางแผนการใช้น้ำ โดยเน้นไปทางน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค น้ำกิน น้ำใช้ น้ำประปาเป็นอันดับแรก น้ำรักษาระบบนิเวศน์ น้ำเหลือที่จะเก็บไว้ปี 67 และมาดูสถานการณ์ฤดูแล้งว่าอ่างไหนจะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปลูกพืชฤดูแล้ง ส่วนใหญ่จังหวัดเชียงใหม่จะเป็นอ่างเชิงเดี่ยว แต่ละอ่างจะมีพื้นที่ส่งน้ำและพื้นที่เพาะปลูกด้วยตัวเอง ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำและทางชลประทานก็จะมาประชุมร่วมกันว่าเป็นไม้ผลเท่าไหร่ การปลูกนาปรัง หรือปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเหลือง เป็นต้น ก็มีการวางแผนกัน ทางชลประทานฯ ยืนยันว่าในเขตชลประทานไม่มีสถานการณ์ภัยแล้งแน่นอน แต่อาจจะมีนอกเขตชลประทานบางแห่ง ซึ่งสถานการณ์น้ำในขณะนี้เกินกว่าค่าเฉลี่ยไปแล้ว ตามแหล่งน้ำธรรมชาติยังคงมีน้ำอยู่ คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งปีหน้าจะไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ได้ประมาทซึ่งทางชลประทานฯ ก็ได้มีการวางแผนและสำรองน้ำไว้ใช้
นายศุภมิตร กฤษณมิตร หัวหน้าฝ่ายปลอดภัยเขื่อน สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า จากการตรวจเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 1 ยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี และยังสามารถรองรับน้ำได้อยู่ ส่วนเรื่องการเกิดแผ่นดินไหวในห้วงที่ผ่านๆ มา ตัวอ่างเก็บน้ำไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด.
ทรงวุฒิ ทับทอง