จากกรณี เมื่อ 30 สิงหาคม 2567 ศาลปกครอง ได้เผยแพร่กำหนดนัดพิจารณาคดีที่น่าสนใจของศาลปกครองในระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย.2567 ซึ่งมีคดี นายชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี กับพวกรวม 2 คน ฟ้อง นายก อบจ.ปทุมธานี กับพวกรวม 4 คน เรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ อบจ.ปทุมธานีได้รับความเสียหายต้องจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็นจริง 44 ล้านบาท จากข่าวกรณีนายชาญ ฟ้อง นายก อบจ.ปทุมธานีในขณะนั้น ให้เพิกถอนคำสั่งเรียกค่าเสียหายซื้อเครื่องออกกำลังกายแพง 44 ล้าน โดยที่ศาลปกครองได้นัดพิจารณาคดีในวันที่ 5 กันยายน 2567 นั้น
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2564 กรมบัญชีกลางมีหนังสือด่วนที่สุดถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมธานี) แจ้งผลพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ได้แก่ อดีตนายก อบจ.ปทุมธานี และพวก จำนวน 6 ราย จากกรณีตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ระหว่างปีงบประมาณ 2555-2556 จำนวน 12 สัญญา รวมเครื่องออกกำลังกาย 151 ชุด คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 74,118,500 บาท เปรียบเทียบกับเครื่องออกกำลังกายที่ได้จากการสืบราคา คิดเป็นจำนวนเงิน 29,544,487.68 บาท พบว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยงานการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง เป็นเหตุให้จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสูงกว่าราคาท้องตลาดเป็นจำนวนเงิน 44,574,012.14 บาท ทำให้ทางราชการต้องทำสัญญาซื้อสูงกว่าที่ควรจะเป็นพฤติกรรมนี้ถือว่า บุคคลทั้ง 6 ที่กล่าวมาข้างต้นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างรุนแรง ร่วมกันทุจริต เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีได้รับความเสียหาย ต้องจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น จึงให้บุคคลทั้ง 6 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 15 ของความเสียหายคืนกรมบัญชีกลาง กองละเมิดและแพ่งกลุ่มงานละเมิดและเพ่ง 5 กระทรวงการคลังต่อไป
สำหรับคดีจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น ของ อบจ.ปทุมธานี นั้น เป็นหนึ่งในข้อกล่าวหา ที่ทำให้นายชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายกอบจ.ปทุมธานี ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 35/2560 ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่เป็นการชั่วคราว เพื่อเข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจากหน่วยงานต้นสังกัดเป็นทางการ หลังถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเรื่องการตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย เมื่อช่วงปี 2555-2556 จำนวนหลายสัญญา พบว่ามีการตั้งราคาจัดซื้อสูงเกินกว่าความเป็นจริงกว่า 44 ล้านบาท และมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมาย ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา
โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดี (นายชาญ) ฟ้องว่า นายก อบจ.ปทุมธานี ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนายก อบจ.ปทุมธานี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มีคำสั่งอบจ.ปทุมธานี ที่ 02389 และ 02390 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2564 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ อบจ.ปทุมธานีได้รับความเสียหายต้องจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้อุทธรณ์คำสั่งแล้ว แต่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาตามหนังสือ ลงวันที่ 24 ก.พ.2565 ให้ยกอุทธรณ์ จึงเป็นสาเหตุนำคดีนี้มาฟ้อง
ดังนั้นการดำเนินการ ของนายก อบจ.ปทุมธานี (พล.ต.ท.คำรณวิทย์) ในขณะนั้นได้ดำเนินตามที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ได้แจ้งผลพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างรุนแรง ร่วมกันทุจริต เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีได้รับความเสียหาย ซึ่งล่าสุด คดีอยู่ในขั้นตอนการไต่ส่วนของ (ป.ป.ช.) (เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องกล่าวหา ชาญ พวงเพ็ชร์ เมื่อครั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ปทุมธานี กับพวก จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของ อบจ.ปทุมธานี ในราคาที่สูงเกินจริง ระหว่างปี 2555-2556
นายนิวัติไชย ระบุว่า การตรวจสอบสำนวนแล้วเสร็จ และเสนอสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้ว แต่ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติให้ไต่สวนเพิ่มเติมและขยายผล เนื่องจากเห็นว่ายังมีผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน จึงให้ไปไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องออกกำลังกายเพิ่มเติม โดยอาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือเอกชน ส่วนกรอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ตามปกติจะดำเนินการไต่สวนภายในระยะเวลา 3 เดือน และเมื่อแล้วเสร็จก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช. ให้พิจารณาว่าจะมีมติชี้มูลหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดก็ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดให้มีคำสั่งฟ้องในคดีอาญา จากนั้นส่งเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่ง.
สญชัย คล้ายแก้ว/รายงาน